นอกจากนี้ ยังมีแหล่งทำเกลือซึ่งเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาอีกแห่งในคาบสมุทรคือบริเวณเมืองปัตตานีที่อยู่ริมชายฝั่งทะเล ภูมิทัศน์ของเมืองปาตานีที่ตั้งอยู่บนแนวสันทรายริมอ่าวปัตตานีในปัจจุบัน ในบริเวณบ้านกรือเซะ-บานา-ตันหยงลูโละ-ปาเระ ในพื้นที่ผสมผสานระหว่างนิเวศภายในของที่ราบลุ่มริมฝั่งน้ำสามารถปลูกข้าวได้ตามฤดูกาลและนิเวศแบบน้ำกร่อยและชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นอ่าวและแหลมด้านหน้าเมือง ทำให้คลื่นลมสงบกว่าทะเลนอกเหมาะสำหรับเป็นอ่าวจอดเรือสินค้าขนาดกลางๆ โดยธรรมชาติรวมทั้งระบบนิเวศแบบน้ำกร่อยป่าชายเลนนี้มีความอุดมสมบูรณ์มากสามารถเลี้ยงผู้คนได้จำนวนมาก
บริเวณนี้ยังมีฤดูกาลที่มีแดดและอุณหภูมิที่เหมาะสมจนทำให้สามารถทำนาเกลือได้ดีกว่าชายฝั่งอื่นๆ ในแหลมมลายู ความเป็นตลาดค้าเกลือนี้เองก็พอเพียงที่จะทำให้เมืองปาตานีกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วกว่าเมืองท่าใดๆ ในคาบสมุทร ซึ่งยังมีการผลิตเกลือทะเลที่มีรสอมหวานกว่าเกลือทะเลทั่วไป ในอดีตนั้นใช้ได้สำหรับหัวเมืองมลายูบางแห่ง ส่วนศูนย์กลางการค้าเกลือเมื่อยังใช้การเดินเรือทะเลขนส่งอยู่นั้น มีสิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางการค้าและส่งออกไปยังเมืองต่างๆ ทางฝั่งอันดามัน และมีปราหูหรือเรือขนส่งของชาวมลายูจากเมืองตรังกานูเป็นพาหนะเข้ามารับส่งเกลือทะเลและสินค้าต่างๆ จากทางบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี ไปจนถึงแม่กลองจนเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้จึงยุติ
อนันต์ วัฒนานิกร ผู้บุกเบิกสำรวจ ‘เมืองเก่าปตานี’ ที่อ่าวปัตตานีบันทึกหลักฐานไว้ว่า เคยพบเห็นแนวกำแพงเมืองและเศษภาชนะดินเผาเคลือบที่เป็นของจีนและของต่างประเทศ เช่น ดัชท์จำนวนมาก ริมลำน้ำเก่าที่ผ่านท้ายเมืองในเขตบ้านกรือเซะไปออกทะเลที่ปากคลองปาเระพบร่องรอยของเตาเครื่องปั้นดินเผาทั้งแบบเผาแกร่งและแบบเคลือบที่มีอายุขึ้นไปจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น จุดที่คลองปาเระร่วมกับคลองบ้านดีมีร่องรอยของเนินดินริมฝั่งน้ำที่เคยเป็นชุมชนดั้งเดิม พบเศษภาชนะดินเผาทั้งเคลือบและไม่เคลือบมากมาย โดยเฉพาะเครื่องเคลือบของจีนแบบราชวงศ์หมิงในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ เป็นต้นมา