ซึ่ง ศาสตราจารย์โวลเตอร์สวิเคราะห์ว่า โปซู่หลันคือเมืองจันทบูร ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญริมอ่าวไทยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕ ในการกำกับของตระกูลเสนะแห่งอีสานปุระ และ เต็งหลิ่วเหม่ยคือตามพรลิงค์ หมายถึงชุมชนชายฝั่งของเมืองนครศรีธรรมราช ศาสตราจารย์โวลเตอร์สให้นัยยะขึ้นมาถึงเมืองเพชรบุรีทีเดียว
และยังวิเคราะห์อีกว่า ท่าเรือเดินทะเลของเจนลีฟูควรอยู่ในตำแหน่งตอนบนของคาบสมุทรน่าจะอยู่ที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือและทางตอนเหนือของอ่าวไทย ซึ่งจะใช้เวลา ๕ วันเดินทางไปถึง ‘โปซู่หลัน’ ทางชายฝั่งตะวันออกเพื่อเดินทางไปให้ถึงเมืองท่าในจีนตอนใต้ช่วงต้นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยตั้งข้อสังเกตว่า ‘เหตุใดชาวจีนจึงกล่าวถึงเพื่อนบ้านที่ชิดกันคือตามพรลิงค์ ไม่ใช่ละโว้ โดยเชื่อมโยงกับที่ตั้งของเจนลีฟู’ ซึ่งอาจแปลความจากการตั้งคำถามนี้ได้ว่า เจนลีฟูอยู่ติดกับพื้นที่ทางการเมืองของตามพรลิงค์ทางตะวันตกเฉียงใต้ในจุดที่ต้องเดินทางออกจากเมืองท่าทางฝั่งตะวันตกตอนบนสุดของคาบสมุทรสยามใช้เวลาเดินเรือทะเลเลียบชายฝั่ง ๕ วัน จึงถึงบริเวณปากน้ำจันทบูรซึ่งเป็นท่าเรืออิสระนอกเขตอำนาจทางการเมืองของเจนลีฟูในยุคนั้น
ภาชนะแบบซ่งเหนือและใต้ที่พบจากท้องน้ำแม่กลอง
หน้าวัดเกาะนัมมทาปทวลัญชาราม
และ ‘นครรัฐเจนลีฟู’ ไม่ควรอยู่ในบริเวณปากน้ำหรือเมืองท่าที่มีการค้าขาย เมืองสำคัญส่วนใหญ่ในยุคนั้นมักเป็นเมืองท่าภายในแผ่นดิน ซึ่งน่าจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง [Riverine] ที่ใช้เวลาเดินทางถึงปากน้ำไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ โดยคำนวณจากจำนวนวันที่เดินทางไปถึงเมืองท่าตอนใต้ของจีนที่ใช้เวลาราว ๖๐ วัน
บริเวณมุมตะวันตกเฉียงใต้ของอ่าวไทยนั้นน่าจะอยู่ใกล้กับปากน้ำแม่กลองที่ราชบุรีก็ได้ เพราะพบเครื่องปั้นดินเผาจากจีนตั้งแต่สมัยฮั่น สมัยห้าราชวงศ์ สมัยถัง และสมัยซ่งตั้งแต่สมัยซ่งเหนือและใต้เป็นจำนวนมาก มีการงมขึ้นมาแจกจ่ายบางส่วนเก็บรักษาไว้ที่ ‘วัดเกาะนัมมทาปทวลัญชาราม’ ตัวเมืองราชบุรี ซึ่งทั้งเมืองราชบุรีและเพชรบุรี ล้วนเป็นบ้านเมืองยุคใหม่กว่าที่เจริญขึ้นมาจากถิ่นฐานบ้านเมืองเดิมที่เมืองคูบัวและเมืองท่าที่เขาเจ้าลายที่ชายฝั่งชะอำ
ภาชนะแบบซ่งเหนือและใต้ที่พบจากท้องน้ำแม่กลอง
หน้าวัดเกาะนัมมทาปทวลัญชาราม