พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในรุ่นพระโอรสที่ส่งผ่านเจ้านายหรือผู้ปกครองในท้องถิ่นที่ไม่เห็นการบริหารราชการแผ่นดินแบบที่ละโว้หรือกัมพูชาเทศะมีอำนาจเหนือบ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยาช่วงเวลานั้น เพราะทั้งจารึกและหลักฐานทางโบราณคดีช่วงนี้เห็นร่องรอยความสัมพันธ์กับหริภุญไชยทางเหนือ กลุ่มเมืองสุโขทัย และตามพรลิงค์ทางใต้ รวมทั้งมีเครือข่ายบ้านเมืองในแถบเมืองท่าทางฝั่งตะวันตกหรือทางฝั่งอ่าวไทยกำลังขยับขยายเจริญทางเศรษฐกิจ
จนเริ่มเห็นกลุ่มเมืองชื่อสุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ในจารึกของพ่อขุนรามคำแหงและจารึกวัดศรีชุม ที่เล่าย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ในครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อันร่วมสมัยกับบ้านเมืองที่ชื่อเจนลีฟูแห่งนี้กำลังดำเนินการค้ากับจีนอย่างรุ่งเรืองกว่าบรรดาบ้านเมืองในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ
อนึ่ง ชื่อ ‘มหิธรวรมัน’ อาจจะเป็นนามพระราชาผู้มีบารมีจากกลุ่มบ้านเมืองเหนือเทือกเขาพนมดงเร็ก ที่ถูกนำมาใช้เป็นพระนามอ้างอิงอย่างเป็นทางการต่อพระจักรพรรดิจีนและอาจมีความเกี่ยวดองในฐานะเครือญาติ ถือเป็นการรับวัฒนธรรมเขมรจากที่ราบสูงโคราชและลุ่มทะเลสาบเขมรมาใช้นำหน้าชื่อพระราชาและต่อมาคือข้าราชการชั้นสูงหรือเทวรูปสำคัญต่างๆ ในลักษณะเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ตามที่ปรากฏเป็นประเพณีพิธีกรรมที่มักใช้รูปแบบจากพราหมณ์พิธีกรรมในราชสำนักเสมอ
ซึ่งในช่วงเวลานั้น จากจารึกดงแม่นางเมือง พ.ศ. ๑๗๑๐ ก็มีการนำชื่อพระราชาผู้มีบารมีจากคาบสมุทรในพระนาม ‘ศรีธรรมาโศกราช’ มากล่าวอ้างถึงการทำบุญพระสรีรธาตุแก่ ‘กัมรเตง ชคต ศรีธรรมาโศก’ ในจารึกดงแม่นางเมือง หรือแม้แต่การนำพระนามของ ‘ศรีมหาราชา’ พระนามกษัตริย์ผู้มีบารมีแห่งศรีวิชัยมาเป็นชื่อสถานที่เมืองแพรกศรีราชา ก็เช่นเดียวกัน
จากหลักฐานจากจดหมายเหตุจีนในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และ ๑๙ แสดงถึงความนิยมนำมาใช้เรียกพระราชาที่เมืองสุโขทัย เมืองเพชรบุรี และเจนลีฟู อย่างเป็นทางการเมื่อส่งพระสุพรรณบัตรไปยังราชสำนักจีน ก็ล้วนใช้คำนำหน้าขึ้นต้นด้วย ‘กัมรเตง’ ในจารึกดงแม่นางเมืองร่วมสมัยกันก็ใช้ กัมรเตง ชคต ศรีธรรมาโศก ซึ่งคำกัมรเตงก็กลายเป็นตำแหน่งข้าราชการปรากฏในกฎหมายตราสามดวงคือ ‘ผแดง’, ผะแดง, ปะแดง จากชื่อเทวรูปที่ขุดพบก็แผลงไปเป็นชื่อเมืองท่าหรือเมืองด่านที่ ‘พระประแดง’ อันเป็นเมืองหน้าด่านเก่าแก่มีมาก่อนพระรามาธิบดีที่ ๑ ที่คลองสำโรงขุดต่อกับคลองทับนางสู่แม่น้ำบางปะกง เส้นทางเดินทางภายในไปยังชายฝั่งและหัวเมืองทางตะวันออกได้ทั้งทางบกและทางน้ำ
บันทึกจาก ซ่งฮุยเหยา กล่าวว่า เจนลีฟูมีบ้านเล็กเมืองน้อยที่มีผู้ปกครองของตนเองอีกกว่า ๖๐ แห่ง และไม่มีบรรดาศักดิ์กัมรเตงกำกับหน้าชื่อ ได้ส่งราชทูตไปยังราชสำนักซ่งใต้ เมื่อ พ.ศ. ๑๗๔๓, ๑๗๔๕ และ ๑๗๔๘
ก่อนหน้านั้นคงมีเรือสินค้าจากจีนเข้ามาติดต่อค้าขายในอ่าวสยามกันอยู่แล้วที่ตั้งอยู่ในบริเวณเหนืออ่าวไทย โดยมีเพื่อนบ้านทางตะวันออกเฉียงใต้คือ โปซู่หลัน [Po-ssu-lan] และตะวันตกเฉียงใต้คือ เต็งหลิ่วเหม่ย และบันทึกบางแห่งเขียนว่าตันหลิวเม่ย [T’eng-liu-mei]
ภาชนะแบบโอ่งขนาดใหญ่เนื้อแกร่งผลิตจากเตาบางปูน ริมแม่น้ำสุพรรณ
พบบริเวณปากน้ำแขมหนู ซึ่งมีเส้นทางภายในติดต่อกับแม่น้ำจันทบูรได้
ช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ เมืองท่าโปซือลันอาจเป็นได้ทั้งบริเวณปากน้ำสำคัญ
เช่นที่แขมหนูและปากน้ำจันทบูรที่แหลมสิงห์ได้เช่นกัน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดปากน้ำแขมหนู