มีบันทึกว่าราชทูตชุดสุดท้ายของตามพรลิงค์ส่งไปยังราชสำนักซ่งใน พ.ศ. ๑๖๑๓ อาจจะเป็นชวาหรือศรีโพธิ์ใน พ.ศ. ๑๖๕๒ ละโว้ใน พ.ศ. ๑๖๕๘ และ ๑๖๙๘ กัมพูชาใน พ.ศ. ๑๖๗๘ และศรีวิชัยใน พ.ศ. ๑๗๒๑
โดยมีเพียงนครรัฐแห่งเดียวในลุ่มเจ้าพระยาเท่านั้นที่เจ้าผู้ครองนครยังคงส่งราชทูตและเครื่องราชบรรณาการเดินทางไปยังราชสำนักซ่งใต้หลังที่สุดใน พ.ศ. ๑๗๔๓, ๑๗๔๕ และให้หยุดในที่สุดเมื่อ พ.ศ. ๑๗๔๘ หลังจากนั้นคือส่งราชทูตไปเช่นเดิมเมื่อเริ่มเข้าสู่สมัยราชวงศ์หยวนไปแล้ว
ชื่อของ ‘เจนลีฟู’ นั้น ศาสตราจารย์โวลเตอร์สให้ความเห็นว่าจีนใช้เรียกนครรัฐหลายแห่งในยุคนั้นลงท้ายด้วย ‘ฟู่’ ที่น่าจะมาจากคำว่า ‘ปุรี’ (เช่น เชียงใหม่ จีนเรียก T’ un-li-fu, สุพรรณ เรียก Pa-pai-hsi-fu, ในเอกสารของหวังต้าหยวนเรียกว่า Su-mên-pang ซึ่งเอกสารสมัยราชวงศ์หมิงเรียก Su-mên-fu) ส่วนชื่อเจนลีนั้นไม่ได้วิเคราะห์ไว้ แต่ก็เป็นไปได้ว่ามีการเลียนแบบชื่อบ้านเมืองทางตะวันออกที่มีมาก่อนคือ เจนละ ซึ่งจีนใช้เรียก กัมพูชาเทศะ มาแต่แรกก็อาจเป็นไปได้
เพราะชื่อผู้ปกครองหรือพระราชาแห่งเจนลีฟูใช้คำนำหน้าว่า ‘กัมรเตง’ และชื่อพระราชาที่ส่งราชทูตไปใน พ.ศ. ๑๗๔๘ ที่จีนบันทึกไว้คือ ‘ซี-หลี่-หมอ-ชี-ต๋อ-ป๋า-หลอ-ฮุง’ / Se-li-Mo-hsi-t’o-pa-lo-hung ที่ผู้เขียนเอกสารถอดเสียงได้ว่าเป็น ‘ศรีมเหนทรวรมัน’ แต่ศาสตราจารย์เซเดส์แนะนำว่า ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มักพบชื่อในจารึกว่า มหิธร [Mah’idhara] มากกว่า มเหนธร [Mahendra] และชื่อของพระราชาจากเจนลีฟูคือ กัมรเตง ศรี มหิธรวรมัน (ส่วนพระราชาแห่งเจนลีฟูในปี พ.ศ. ๑๗๔๓ ถูกบันทึกชื่อไว้จากการมาถึงท่าเรือหนิงโปคือ Mo-lo-pa-kan-wu-ting-ên-ssu-li-fang-hui-chih ที่น่าจะแปลว่า Mo-lo-pa? Kamrateng An Sri Fan hui chin ผู้ครองราชย์มาแล้ว ๒๐ ปี)
ประเด็นจาก ‘ชื่อนำหน้า-กัมรเตง’ ที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากที่ราบสูงโคราชและกัมพูชาเทศะนี้เอง ทำให้ศาสตราจารย์โวลเตอร์สเสนอไปในทำนองว่ารัฐเจนลีฟูอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ซึ่งใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ช่วงเวลานั้น แนวทางการเขียนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงอยู่ภายใต้การชี้นำของศาสตราจารย์เซเดส์อย่างแท้จริง เพราะมีข้อเสนอของเซเดส์ว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ เสด็จมาจากนครศรีธรรมราช โดยอ้างอิงจากตำนานมูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์ และจามเทวีวงศ์ฯ ซึ่งภายหลังก็เปลี่ยนไป (มานิต วัลลิโภดม. ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประติมากรรมในประเทศ. วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๒ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๒๗) หน้า ๑๑๐-๑๑๕)
ในช่วงเวลาที่เขียนบทความนี้ศาสตราจารย์โวลเตอร์สยังคงตั้งข้อสังเกตอย่างรัดกุมในกรอบของการปกครองโดยสุริยวรมันที่ ๑ แต่ก็เอ่ยถึงอย่างชัดเจนว่าในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ราชวงศ์มหิธรปุระที่มีที่มาจากตอนเหนือของกัมพูชามีบทบาทสูงเป็นเวลาหลายทศวรรษ จึงมีราชวงศ์สองราชวงศ์ซ้อนกันเพื่อแข่งขันควบคุมอาณาจักรเมืองพระนคร ซึ่งพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ก็ควบคุมวงศ์ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ซึ่งนักวิชาการรุ่นต่อมาอย่างไมเคิล วิคเคอรี่เสนอว่ามีพื้นฐานมาจากทางตะวันออกทางดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
การกล่าวถึงการมีอาณาจักรซ้อนก็เมื่อละโว้ส่งราชทูตชุดสุดท้ายไปเมืองจีนในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ แสดงนัยยะถึงอิทธิพลทางการเมืองระหว่างบ้านเมืองต่างๆ โดยฝ่ายจีนก็ไม่รู้จัก ‘ละโว้’ และในช่วงการจลาจลในรัชกาลของพระเจ้ายโสวรมันที่ ๒ การแย่งชิงอำนาจของตรีภูวนาทิตยาวรมันและการโจมตีเมืองพระนครของจามปาใน พ.ศ. ๑๗๒๘ ทั้งหมดดังกล่าวมานี้ทำให้อาจารย์โวลเตอร์สไม่สามารถยอมรับได้ว่าเมืองพระนครสามารถควบคุมบ้านเมืองทางตะวันตกในฐานะเป็นเมืองขึ้นหรือเป็นบ้านเมืองในปกครองได้อย่างชัดเจน
นอกจากจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จากปราสาทพระขรรค์ที่ให้ถวายพระชัยพุทธมหานาถไปยังบ้านเมืองทางตะวันตก โดยเซเดส์เสนอว่าควรจะเป็นพระรูปเหมือนในภวังค์สมาธิพบที่ปราสาทบายนและหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ไม่พบในภาคกลาง จนต่อมานักวิชาการทางฝ่ายไทยมักเสนอว่าเป็นพระพุทธรูปนาคปรกหนึ่งในรูปประติมากรรมหินและสัมฤทธิ์รัตนตรัยมหายาน อันมีพระนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระนางปรัชญาปารมิตาเสมอ ซึ่งน่าจะเป็นการตีความจากโศลกต่างบทกัน
แต่ก็มีหนึ่งในราชโอรสของกษัตริย์ชัยวรมันที่ ๗ ที่เซเดส์บันทึกว่าน่าจะเป็นอุปราชแห่งเมืองลพบุรีภายใต้บรรดาศักดิ์ ‘เจ้าชายแห่งละโว้’ (อ้างจาก George Cœdès. Les états hindouisés d'Indochine et d’Indonésie du Monde, tome VIII). De Boccard, Paris, 1948, p. 303 ) ซึ่งไม่ค่อยได้ถูกนำมาอ้างถึงนัก แต่ยืนยันความสัมพันธ์ทางการเมืองผ่านการเกี่ยวดองในระบบเครือญาติ [Cognatic relationship] ในเวลาต่อมาเมื่อมีการนำรูปประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกกิเตศวรเปล่งรัศมีที่คล้ายคลึงกับที่พบในกัมพูชาจำนวนหนึ่งและก็น่าจะมีการสร้างขึ้นเองในท้องถิ่น ถวายไปยังศาสนสถานแบบพุทธมหายานแบบเดิมในพื้นที่ตามเส้นทางเศรษฐกิจของทางละโว้และเจนลีฟูในช่วงหลังจารึกปราสาทพระขรรค์ พ.ศ. ๑๗๓๔ และอย่างน้อยคงหลังจากการส่งราชทูตไปยังจีนของเจนลีฟูครั้งสุดท้ายใน พ.ศ. ๑๗๔๘ นานหลายปี จึงเห็นเพียงร่องรอยของความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่ละโว้ในสมัย