ผู้เข้าชม
0
6 มีนาคม 2568

ภายใน คาบสมุทร และหมู่เกาะ หลังจากนั้นก็เกิดความขัดแย้งในจีนยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐในระยะเวลาราวห้าสิบปี

ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่งตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ บ้านเมืองในจีนพัฒนาทางเทคโนโลยี สร้างเส้นทางเดินทางที่ขยายทั่วถึงนำเอาสินค้าออกแพร่หลายทั้งในเมืองจีนและการค้าโพ้นทะเล แม้จะมีความวุ่นวายในบ้านเมืองกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ แต่ก็สามารถพัฒนาให้มีความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจการค้าระบบการเงินสูงสุด มีเทคโนโลยีประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ การเหมืองแร่ เช่น เหล็ก ทองแดง ทองคำ เงิน ผลิตเป็นทองคำและเงินแท่งรวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็กเพื่อการเกษตร ชีวิตประจำวันและการสงคราม

ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ถือเป็นความรุ่งเรืองของการทำเหมืองแร่ที่ควบคุมโดยรัฐอย่างแท้จริง และอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งออกเหรียญอีแปะทองแดงของจีนถูกห้ามส่งออกให้กับพ่อค้าบางแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งให้ยุติการค้าแบบรัฐบรรณาการกับบ้านเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคราชวงศ์ซ่งไปในที่สุด

โดยเฉพาะสินค้าส่งออกผ้าทอบางประเภท เครื่องปั้นดินเผาจากยุคราชวงศ์ซ่งเหนือสู่ราชวงศ์ซ่งใต้ ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้คนในเจนลีฟู จนพบหลักฐานนำส่งเทคโนโลยีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเคลือบในระดับอุตสาหกรรมกลุ่มใหญ่เท่าที่พบกว่า ๒๐๐ เตาในเขตเหนือแนวเทือกเขาพนมดงเร็กที่อำเภอบ้านกรวด ละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๗

ซึ่งจุดเริ่มต้นการผลิตรวมทั้งรูปแบบของภาชนะที่ได้ค่าอายุคาบเกี่ยวกับช่วงการเกิดขึ้นของราชวงศ์ซ่งเหนือ เตาเผาภาชนะเนื้อแกร่งทั้งขนาดใหญ่แบบโอ่งและไหในช่วงราชวงศ์ซ่งใต้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘  ที่บ้านบางปูนริมลำน้ำสุพรรณ ซึ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพัฒนายิ่งกว่าในอดีต

เครื่องถ้วยรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะแบบเต๋อฮัวที่เรียกว่าชิงไป๋ที่มีสีขาวอมฟ้าแพร่หลายไปยังชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วภูมิภาค รวมทั้งพัฒนาการการค้าทางทะเลที่ต้องทดแทนเส้นทางสายไหมแต่เดิมและยังเริ่มเข้าสู่ตลาดที่มีการแข่งขันสูงกับเรือสินค้าของชาวอาหรับเปอร์เซียและนักเดินเรือท้องถิ่นในน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านช่องแคบมะละกาไปถึงอ่าวเบงกอล รวมทั้งชายฝั่งแอฟริกาก็ยังพบเครื่องถ้วยชิงไป๋แบบราชวงศ์ซ่งใต้ มีพัฒนาการต่อเรือและเดินเรือทะเลให้บรรทุกสินค้าและเดินทางได้ไกลขึ้น 

 

ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้รัฐการค้าทางทะเลแบบผูกขาดเช่น ‘สหพันธรัฐศรีวิชัย’ ถูกลดบทบาทลง แต่กลับทำให้เกิดเมืองท่าทางการค้าชายฝั่งจนไปถึงเมืองท่าภายในเคลื่อนไหวอย่างสูงสุดในระยะนี้ ซึ่งในห้วงเวลานี้ นักวิชาการรุ่นปัจจุบันบางส่วนสร้างกระแสจากการจัดเสวนาและเขียนบทความเสนอว่าบ้านเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นเป็น ‘ยุคมืด’ โดยเปรียบกับทางยุโรปและเสนอนัยยะแห่งการเป็นอาณานิคมในการปกครองของกัมพูชาเทศะ

รัฐการค้าทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบบรัฐบรรณาการหรือจิ้มก้องน่าเริ่มเป็นระบบมากขึ้นในยุคราชวงศ์ซ่งนี้เป็นต้นมา ซึ่งรวมถึงการเกิดขึ้นของบ้านเมืองใหม่ที่ไม่เคยถูกกล่าวถึงในเอกสารจดหมายเหตุทางจีนอย่าง เจนลีฟู’  และกล่าวถึงในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เท่านั้น

ศาสตราจารย์ โอ.ดับเบิลยู โวลเตอร์ส [Prof. O. W. Wolters] เขียนบทความเรื่อง Chen-Li-Fu : A State on the gulf of Siam at the beginning of the 13th century  เสนอการวิเคราะห์รายละเอียดในบทความขนาดยาวนี้ด้วยประเด็นที่ว่า การส่งราชทูตไปยังราชสำนักจีนในช่วงเวลานั้นเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจเพราะเป็นราชทูตชุดสุดท้ายและชุดเดียวจากบ้านเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ถวายเครื่องราชบรรณาการต่อพระเจ้ากรุงจีน 
 


ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ [Coedès George ; 1886-1969] / ศาสตราจารย์ โอ ดับเบิลยู วอลเตอร์ส
[Oliver William Wolters ; 1915-2000] ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา / อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม วัดพ่อตาลูกเขย จังหวัดอุดรธานี