ผู้เข้าชม
0
6 มีนาคม 2568

แต่ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลุ่มเจ้าพระยามีกลุ่มนครรัฐที่เกิดขึ้นและกระจายเป็นชุมชนขนาดใหญ่และน้อยในเส้นทางเศรษฐกิจการค้าและเส้นทางการเดินทางภายในทั้งทางน้ำและทางบกซึ่งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา ซึ่งสัมพันธ์กับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของป่าพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่ถือเป็นสินค้าป่าเพื่อส่งออกมาทุกยุคสมัยดังที่ได้ชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนสุวรรณภูมิมาแต่ยุคพุทธกาล และเป็นชุมชนบ้านเมืองที่เจริญอยู่ก่อนหน้าและหลังจากรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  โดยชัดเจน

กรณีการขุดค้นที่กำแพงเมืองเพชรบุรี ซึ่งเชื่อว่าเป็นหนึ่งในเมืองสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พบเศษภาชนะสามารถประเมินอายุได้ ๓ กลุ่ม คือจากเตาป่ายาง-เกาะน้อย ศรีสัชนาลัย, เตาบางปูน สุพรรณบุรีและเตาจากฝูเจี้ยนในช่วงราชวงศ์หยวนไปแล้ว
 


กำแพงแก้ววัดมหาธาตุ ราชบุรี ที่เลียนแบบกำแพงที่ปราสาทพระขรรค์
และป้ายทุกแห่งการท่องเที่ยวแม้แต่การจัดโดยสำนักพิมพ์ที่เสนองาน
ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี เสนอว่าที่นี่คือเมือง ศรี ชยราชปุระ

และพื้นที่บริเวณนี้ไม่พบเครื่องถ้วยแบบซ่งใต้เลยในชั้นก่อนหน้านี้ ซึ่งแสดงถึงการไม่พบเครื่องถ้วยในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และชุมชนเก่าใกล้เคียงที่เป็นชุมชนในทางการค้าเช่น บ้านยี่สารชั้นดินสุดท้ายก็พบเป็นเครื่องถ้วยศรีสัชนาลัยสุโขทัยร่วมกับเครื่องถ้วยในราชวงศ์หยวน ไม่มีเครื่องถ้วยจากราชวงศ์ซ่งแต่อย่างใด

โดยมีบันทึกในเอกสารจีนว่ามีเครือข่ายชุมชนกว่า ๖๐ แห่งที่ขึ้นตรงต่อเจ้าผู้ครองนครรัฐ ผู้ซึ่งสามารถส่งราชทูตไปยังราชสำนักซ่งใต้ ๓ ครั้งในช่วงเวลา ๕ ปี ในช่วง พ.ศ. ๑๗๔๓-๑๗๔๘ ในขณะที่บ้านเมืองอื่นๆ เช่น ละโว้ กัมพูชา ศรีวิชัย ตามพรลิงค์ เป็นต้น ราชสำนักซ่งให้ราชทูตจากบ้านเมืองทางใต้หยุดเดินทางมาส่งสารแสดงความเคารพนานแล้ว 

มีเพียงนครรัฐแห่งเดียวในดินแดนโพ้นทะเลทางใต้ที่สามารถส่งราชทูตและเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักจีนในช่วงเวลานี้ได้ นครรัฐแห่งนั้นชื่อเจนลีฟู

เจนลีฟูบ้านเมืองกลางลุ่มเจ้าพระยาในจดหมายเหตุจีนราชวงศ์ซ่ง และจากการวิเคราะห์ของ ศาสตราจารย์ โอ.ดับเบิลยู โวลเตอร์ส และอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

เอกสารทางราชการสมัยราชวงศ์ซ่งที่เรียกว่า ซ่งฮุยเหยา [Sung hui-yao chi-kao] เป็นเอกสารสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยราชวงศ์ซ่งตั้งแต่ พ.ศ. ๑๕๐๓ - ๑๘๒๒ น่าแปลกที่มีบันทึกรายละเอียดและธรรมเนียมปฏิบัติการรับราชทูตจากนครรัฐเล็กๆ ในลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งจีนมองว่าเป็นกลุ่ม หนานหมาน  หรือบ้านเมืองป่าเถื่อนทางใต้มาโดยตลอด

ธรรมเนียมการส่งทูตจากบ้านเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถวายเครื่องราชบรรณาการและนำพระราชสาส์นแก่พระจักรพรรดิจีนเป็นแบบรัฐการค้าที่ปกติทำกัน ๓ ปีต่อครั้ง แม้ความเป็นจริงจะมีความพยายามส่งกันแทบทุกปี ถือเป็นการแสดงความสวามิภักดิ์เพื่อความสะดวกในการค้าตามเมืองท่าทางใต้ของทั้งราชสำนักและพ่อค้าต่างๆ รู้จักกันในนาม จิ้มก้อง 

ในราวพุทธศตวรรษที่ ๔ สมัยราชวงศ์ฮั่น มีบันทึกการเดินทางเพื่อทำการค้าผ่านคาบสมุทรสยามไปยังชายฝั่งทางตอนใต้ของอินเดีย ในช่วงเวลานั้นคงใช้เรือของท้องถิ่นและใช้เส้นทางการเดินทางข้ามคาบสมุทรสยาม-มลายู ต่อมาจึงเป็นยุคราชวงศ์ถังตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕ การค้าทางทะเลจากจีนในยุคนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อบ้านเมืองแบบรัฐโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งแผ่นดิน