ผู้เข้าชม
0
6 มีนาคม 2568


จารึกที่กล่าวถึง พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑, K.1198/Ka.18,
in Khmer and Sanskrit, at the National Museum of Cambodia. Photograph by Ian Glover.
[THE FALL OF DVĀRAVATĪ AS MENTIONED IN THE KHMER INSCRIPTION K.1198, 2020]


ซึ่งในจารึกกล่าวว่าบริเวณนี้เรียกว่า มัธยประเทศ ตามจารึก ชี้ให้เห็นการแผ่อิทธิพลผ่านขุนนางหรือแม่ทัพใกล้ชิดชื่อ ‘ศรีลักษมีปติวรมัน’ [Lakmipativarman] ผู้มีพื้นเพต้นตระกูลอยู่ทางแถบตะวันออกในลุ่มน้ำโขง โดยผู้เขียนบทความตีความโศลกที่ ๒๓ กล่าวถึงสงครามทางตะวันตก และพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ตั้งให้ ศรีลักษมีปติวรมัน เป็นผู้ปกครอง Rāmanya ที่น่าจะเป็น Rāmañña แล้วตีความว่ารามัญน่าจะคือชาวมอญ และชาวมอญคือชาวทวารวดี และควรอยู่ที่ละโว้ เพราะมอญที่พม่า แม้จะอยู่ทางตะวันตกแต่ก็ไกลเกินไป จึงควรอยู่ที่ละโว้ดังกล่าว

 

และตีความอีกว่าละโว้ก็เท่ากับอาณาจักรทวารวดี ดังนั้นการตีเมืองละโว้ก็คงเป็นการตีเมืองทวารวดีเพราะเป็นเมืองมอญ นี่คือจุดสิ้นสุดของทวารวดี 

และโศลกที่ ๓๗ นิยมนำมาอธิบายเมืองละโว้ในรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ก็คือ กลียุคทำให้ละโว้ถูกทำลายเสมือนป่าดงดิบ ความสวยงามหายไปเต็มไปด้วยนักล่า เช่น เสือ ทำให้ดูน่ากลัวกว่าสถานที่เผาศพ (U-tain Wongsathit, Kangvol Katshima, and Chatupohn Khotkanok. The fall of Dvaravati as mentioned in the Khmer inscription K.1198 in Defining Dvravati, 2020)

ทั้งที่จารึกพบที่ละโว้ก่อนหน้านั้นกล่าวถึงการประนีประนอมความเชื่อทางศาสนาต่างๆ ทั้งพราหมณ์และพุทธมหายานในราวสิบปีต่อมา ไม่มีจารึกหลักใดกล่าวถึงการรบฆ่าฟันอย่างนองเลือดจนทำให้บ้านเมืองร้างที่ปรากฏในโศลกเพียงสองสามคำ และมีแนวโน้มของการแต่งความเรียงเกินกว่าจะนำไปเป็นข้อเท็จจริง 

ตลอดยุคสมัยของเมืองพระนครไม่มีจารึกใดเอ่ยถึงการสงครามทางฝั่งตะวันตกในลุ่มเจ้าพระยาหรือเป็นสงครามใหญ่เทียบเท่ากับสงครามกับจามปา เฉพาะสงครามกับจามปาที่เริ่มตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และเมืองพระนครเพลี่ยงพล้ำถูกจามปายึดได้หลายครั้งและมีความขัดแย้งต่อเนื่องมาโดยตลอด จนสุดท้ายปราบกลับคืนเมื่อได้รับความช่วยเหลือจากไดเวียดช่วงรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  

คำ Rāmanya ในจารึกเป็นบาลี ท่านตีความว่าควรเป็นคำเดียวกับ Rāmañña ที่จารึกก่อนเมืองพระนครเช่นที่พบจากปราสาทบาสัคใกล้กับสวายเรียง [Prasat Bassac, K.71]  เขียนชื่อทาสคนหนึ่งโดยมีคำ ramañ  เป็นชื่อของชาติพันธุ์มอญ 

เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่าคำว่า rmeñ / รเมง เก่าที่สุดพบในจารึกของพระเจ้าจันสิตถาแห่งพุกามเมื่อ พ.ศ. ๑๖๔๕ ซึ่งคำมอญเก่าคือ rmeñ /รเมง คำมอญสมัยกลางว่า rman / รมัน น่าจะรับมาจากคำจากภาษาบาลีทางหริภุญชัย หลังรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ เกือบร้อยปี

ดังนั้นการตีความง่ายๆ ว่า บ้านเมืองชื่อ Rāmanya คือบ้านเมืองชาวมอญที่ละโว้ก็ดูจะเกินหลักฐานไปมาก รามัญคือมอญและหมายถึงทวารวดีทั้งหมดถูกขุนนางแม่ทัพใหญ่จากเมืองพระนครตีแตกจนบ้านเมืองร้างแต่งเป็นโศลกได้เทียบกับกลียุคเช่นนั้น และก่อน .. ๑๕๕๗ คือจุดสิ้นสุดของทวา-รวดีและนิยามให้ทวารวดีคือละโว้เข้าไปอีก สำหรับผู้เขียนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้