ผู้เข้าชม
0
6 มีนาคม 2568

ก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตกอยู่ในช่วงเวลาที่การค้าขายแลกเปลี่ยนทรัพยากรแร่ธาตุและของป่าจากเทือกเขาสูงจำพวกแร่ดีบุก ตะกั่ว เงิน และเหล็ก เจริญงอกงามชัดเจนแล้ว บ้านเมืองในชุมชนต่าง ๆ ก็น่าจะสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนทวารวดีที่เรียกว่ายุคฟูนัน เช่นที่เมืองอู่ทองและอาณาบริเวณโดยรอบ เช่น บริเวณดอนตาเพชร นาลาว และสวนแตงในลุ่มน้ำจระเข้สามพันและท่าว้า 

ขณะเดียวกันในช่วงเวลานี้เกิดนครรัฐริมเส้นทางน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง เริ่มมีเครือข่ายนครรัฐเป็นสหพันธรัฐ เช่น สุพรรณภูมิ แพรกศรีราชา สุโขทัย นครศรีธรรมราชที่รวมเอาสทิงพาราณสี (ในคาบสมุทรสทิงพระ) และมัณฑละละโว้ (หลอฮกในจดหมายเหตุจีน) ที่มีนครรัฐละโว้ อโยธยา ที่มีร่องรอยความสัมพันธ์กับนครรัฐบ้านเมืองบนที่ราบสูงโคราช เช่น พิมายและบ้านเมืองระหว่างลำน้ำมูล - พนมดงเร็กมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ 

ซึ่งน่าจะมีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติกับเหล่ากษัตริย์ผู้ปกครอง การแลกเปลี่ยนเชื่อมต่อทั้งทางศาสนาความเชื่อ การขนส่งสินค้า เช่น เครื่องถ้วยแถบกลุ่มเตาบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ การผลิตภาชนะดินเผาคุณภาพสูงโดยเทคโนโลยีการผลิตจากจีนตอนใต้ เช่นที่เตาบ้านบางปูน ริมแม่น้ำสุพรรณบุรี ตอนเหนือของเมืองสุพรรณภูมิ

ความเชื่อที่ฟื้นคืนด้วยข้อความคำเดียวในจารึกหลักหนึ่งอันห่างไกล

แม้ศาสตราจารย์เซเดส์จะเขียนบทความร่วมกับศาสตราจารย์บวส เซอลีเย่ ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ โดย ศ.มจ. สุภัทรดิศ ดิศกุล แปลในชื่อ ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยความเห็นของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ในงานชิ้นนี้ก็เปลี่ยนไปว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ไม่ใช่โอรสของกษัตริย์นครศรีธรรมราช แล้วยังระบุว่าศิลปะแบบลพบุรีนั้นสืบเนื่องมาจากศิลปะแบบทวารวดี ดังนั้นอิทธิพลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ที่ถูกเข้าใจผิดมาโดยตลอดและยกให้ละโว้เป็นเมืองขึ้นของกัมพูชาเทศะ อิทธิพลทางศิลปกรรมต่างๆ ในละโว้หรือลพบุรีรวมทั้งศิลปะแบบลพบุรีล้วนได้รับมาจากกัมพูชาก็แปรเปลี่ยนไปนานมากแล้ว 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการในรุ่นปัจจุบันได้พบหลักฐานจารึกที่กล่าวถึงการทำบุญและซื้อที่ดินและกัลปนาของแม่ทัพที่น่าจะเคยไปตีเมืองละโว้มาก่อน .. ๑๕๕๗ ยิ่งทำให้ความเชื่อชั้นหลังนี้กระพือขึ้นมาอีกในทุกวันนี้ 

 

ว่าบ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยา โดยเฉพาะเมืองละโว้เป็นอาณานิคมโดยชอบธรรมของพระเจ้าสุริยวรมันที่ โดยทวารวดีที่มีเมืองละโว้ เป็นตัวแทนนี้คือทวารวดี อาณาจักรแห่งลุ่มเจ้าพระยาทั้งหมด นอกจากความเชื่อจะกลับคืนแล้ว ยังครอบคลุมกว้างๆ แทบทุกพื้นที่ไปเสียอีกและเผยแพร่ทางบทความในหนังสือและบทความทางออนไลน์เป็นความเชื่อหลักกันในทุกวันนี้

ต้นกำเนิดของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ นั้น นักวิชาการ หลังยุคศาสตราจารย์เซเดส์ ต่างสรุปว่าน่าจะมีรากฐานมาจากทางฝั่งตะวันออกของเมืองพระนคร ทางลุ่มน้ำโขง ไม่ใช่มาจากนครศรีธรรมราชหรือละโว้ ส่วนหลักฐานจารึก K.1198/Ka.18 พบที่ ช่องจอม - โอเสม็ด (ช่องเขาข้ามพรมแดนระหว่างอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ และอำเภอสำโรง จังหวัดอุดรเมียนเจย) อายุราว พ.ศ. ๑๕๕๗ ซึ่งเป็นช่องเขาสำคัญ มีทิศทางไปยังบ้านเมืองแถบสุรินทร์และศรีสะเกษ 
 


ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์
[Coedès George ; 1886-1969]