บทสรุป ‘เจนลีฟู’ คือบ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยาก่อนการเกิดสยามหรือเสียมในจดหมายเหตุจีน
จากหลักฐานและข้อสันนิษฐานของนักวิชาการทุกท่านที่เอ่ยนาม รวมทั้งข้อวิเคราะห์ผู้เขียนบทความนี้นำเหตุการณ์ในช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดกรุงศรีอยุธยาและเกิดการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางอย่างสมบูรณ์ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในนาม ‘สยามประเทศ’ บ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยานั้นเป็นช่วงเวลานี้เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง มีการเข้ามาของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ในลักษณะการเป็นเมืองท่าทั้งภายในและภายนอก การค้ากับจีนนั้นถือเป็นเหตุสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและสร้างสมความรุ่งเรืองจนเกิดสหพันธรัฐขนาดเล็กในบริเวณตอนกลางระหว่างแม่น้ำน้อยและแม่น้ำสุพรรณ ซึ่งเรียกว่า ‘เจนลีฟู’ ชื่ออันแท้จริงของบ้านเมืองแห่งนี้เราไม่ทราบว่าควรจะเป็นเช่นไร แต่เห็นได้ชัดว่าช่วงเวลาก่อนครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ขึ้นไปจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ หรือ ๑๖ อันต่อกับยุคศรีวิชัยที่เป็นรัฐการค้าทางทะเลและถือเป็นช่วงปลายสมัยทวารวดี มีความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวของผู้คนต่างชาติพันธุ์เข้ามาในดินแดนนี้ และในขณะเดียวกันก็รับอิทธิพลพุทธศาสนาแบบมหายานโดยเฉพาะจากปาละเข้ามาตั้งแต่สมัยทวารวดีแล้ว
หลังจากครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ กลุ่มบ้านเมือง ‘เจนลีฟู’ น่าจะพัฒนามาเป็นบ้านเมืองที่ชื่อ ‘สุพรรณภูมิ’ ซึ่งกินพื้นที่รวมไปถึงชุมชนที่แม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่และตามลำน้ำแม่กลองด้วยส่วนหนึ่ง เมืองแพรกศรีราชาหรือสรรคบุรีส่วนหนึ่ง เมืองชัยนาทที่ปากแม่น้ำน้อยส่วนหนึ่ง รวมทั้งสัมพันธ์กับบ้านเมืองทางคาบสมุทร ส่วนเมืองสิงห์บุรีและเมืองพรหมบุรีเป็นเมืองในเครือข่ายรัฐละโว้ ที่เริ่มเข้ามาพัฒนาพื้นที่บริเวณปลายสุดของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่าบริเวณฝั่งเหนือและใต้ของแม่น้ำป่าสักที่เป็นกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา
มีการแบ่งแยกพื้นที่และอำนาจทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด ฟากทางตะวันตกจากทางรัฐสุโขทัย สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ลงไปถึงนครศรีธรรมราชทางฝ่ายจีนในสมัยราชวงศ์หยวนเรียกรวมๆ ว่า ‘เสียน' หรือ ‘สยาม' ส่วนทางฟากตะวันออกเรียกว่า ‘ละโว้’ และมีการบันทึกถึงการรวมกันของสองรัฐในปลายต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ใช้ชื่อว่า ‘เสียนหลอหู’ หรือ ‘เสียนโล้’ ที่กลายเป็น ‘เสียมหลอ’ ชื่อบ้านเมืองและผู้คนสยามสำหรับชาวจีนต่อมาอีกหลายศตวรรษ
เจนลีฟูคือการรวมตัวของบ้านเล็กเมืองน้อยในลุ่มเจ้าพระยาตอนบน เป็นรัฐแรกเริ่มคือในลุ่มเจ้าพระยาก่อนการเกิดสหพันธรัฐสยาม หรือเสียน หรือเสียมในจดหมายเหตุจีนนั่นเอง
แผนที่แสดงเส้นทางน้ำ ชุมชน และเมืองโบราณ สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มนครรัฐ
เจนลีฟู ในลุ่มเจ้าพระยาตอนบน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘
คำสำคัญ :