ตัวอย่างกลุ่มพระพุทธรูปบูชาขนาดย่อมทำจากการหล่อแบบสัมฤทธิ์ที่ทำสืบมาแบบเถรวาทแบบเดิมทำเป็นพระพุทธรูปปางประทานธรรมและประทานอภัย พระพุทธรูปปางสมาธิ พบมากที่สุดคือมารวิชัย และต่อมาแบบมหายานอิทธิพลศิลปกรรมแบบปาละ เป็นพระทรงเครื่องสวมเทริด และต่อมาคือวัชรยานมีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นางปรัชญาปารมิตา เหวัชระ พระนารายณ์ พระอิศวร และพระคเนศวรทำจากสัมฤทธิ์ พบทั่วพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงตามเส้นทางเศรษฐกิจคือกาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท และสิงห์บุรี และมีรายงานว่าพบอีกบางแห่งที่ห่างไกล เช่นที่ลพบุรี ปากช่อง โคราช เป็นต้น ถือเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว ภาพจากฐานข้อมูลภาพของอาจารย์มนัส โอภากุล เผยแพร่โดยการอนุญาตของครอบครัวโอภากุล
พระพุทธรูปอันเป็นอัตลักษณ์เหล่านี้มักพบการฝังในไหแบบจีน และพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ ก็ฝังเป็นจำนวนมากในไหจากจีนเช่นกัน (คำบอกเล่าจากชาวบ้านผู้พบที่บ้านดอนกระโดน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท พบพระเครื่องพิมพ์ที่เรียกว่าพระร่วงซุ้มใบระกา หมายถึงพระปางประทานอภัยในซุ้มเรือนแก้ว พระพุทธรูปนั่งปางสมาธิและปางมารวิชัย ส่วนใหญ่เป็นเนื้อชินที่มีส่วนผสมตะกั่วมาก)
พระพุทธรูป เหวัชระ พระโพธิสัตว์ และนางปรัชญาปารมิตาที่เป็นพระบูชาขนาดย่อมๆ เหล่านี้ ล้วนสร้างขึ้นเนื่องในคติพุทธศาสนาแบบมหายานดั้งเดิมที่พัฒนามาเป็นแบบวัชรยานในเวลาต่อมา โดยแตกต่างไปจากพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่เป็นประติมากรรมทำจากหินทรายขนาดใหญ่ องค์ที่พบจากเนินทางพระน่าจะสร้างเลียนแบบพระโพธิสัตว์ทำจากหินทรายจากทางเมืองพระนคร ส่วนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีพบที่เมืองสิงห์ เมืองโกสินารายณ์ และที่ลพบุรี น่าจะสร้างขึ้นจากเมืองพระนครหรือทำด้วยฝีมือช่างหลวงที่แตกต่างไปจากฝีมือช่างท้องถิ่นแถบเนินทางพระ
ดังนั้นวัฒนธรรมจากเมืองพระนครในช่วงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จึงน่าจะได้รับอิทธิพลผ่านการนำแนวคิด ความเชื่อและการสร้างศาสนสถานในช่วงเวลาหลังจากรัชกาลนั้นหรือราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ไปแล้ว และในขณะนั้น บ้านเมืองในลุ่มเจ้าพระยากำลังเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจจากพ่อค้าชาวจีนที่เดินทางนำเอาทั้งเทคโนโลยีการผลิตเครื่องปั้นดินเผา นำสินค้าเช่นเครื่องปั้นดินเผาในสมัยราชวงศ์ซ่งเข้ามาแลกเปลี่ยนกับสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะที่มาจากป่าเทือกเขาสูงแบบเมืองร้อนและทรัพยากรจากแร่ธาตุอันเป็นพื้นฐานของบ้านเมืองที่ถูกเรียกว่า ‘สุวรรณภูมิ’ มีการทำเหมืองแร่เพื่อใช้ทั่วทุกภูมิภาคภายในและการส่งออก ส่งผลให้เกิดการเดินทางเข้ามาของคนหลากหลายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกลุ่มคนไทย เช่น จารึกอักษรขอมแบบลุ่มเจ้าพระยาในภาษาไทยระบุชื่อ ‘พระยาไชยกร’ จากฐานที่ตั้งประติมากรรมทางศาสนาอันเป็นประธานของปราสาทเมืองสิงห์ ก็น่าจะเป็นข้าราชการชั้นสูงผู้ปกครองเมืองในครั้งนั้น เป็นต้น