ผู้เข้าชม
0
6 มีนาคม 2568

มีภาพถ่ายเก่าของคุณมนัส โอภากุลเป็นร่องรอยของศาสนสถานขนาดไม่ใหญ่นักหลายแห่งรอบๆ สระน้ำซึ่งฐานอาคารทำจากศิลาแลงและมีการปั้นปูนประดับอาคาร มีร่องรอยของการถลุงโลหะหลายประเภท แต่ที่พบคือก้อนตะกั่วรูปแบบต่างๆ ซึ่งก็พบทั่วไปในเมืองเขตลุ่มลพบุรี-ป่าสัก เช่นที่จันเสน ลุ่มเจ้าพระยาที่เมืองอู่ตะเภาหางน้ำสาคร และเมืองในลุ่มน้ำสีบัวทอง และพบก้อนตะกั่วก้อนใหญ่ๆ หลายแห่ง รวมทั้งตะกั่วนมซึ่งมักพบในเรือสินค้าโบราณที่จมลงตั้งยุคปลายสมัยศรีวิชัยซึ่งอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ หรือ ๑๕ ทางปลายของคาบสมุทรมลายูเรื่อยมาจนถึงสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา

การส่งออกตะกั่วนมเหล่านี้ถูกบันทึกเป็นสินค้าส่งออกจำนวนมากโดยเฉพาะในเรือจมที่เกาะคราม ซึ่งพบว่าแหล่งผลิตสำคัญอยู่บริเวณเหมืองสองท่อและลำห้วยคลิตี้ในปัจจุบัน อดีตนั้นพบก้อนตะกั่วนมจำนวนมาก บริเวณแถบนี้น่าจะผลิตมาตั้งแต่ยุคเหล็กหรือยุคสุวรรณภูมิ เพราะพบมโหระทึกจำนวนมากและการฝังศพครั้งที่สองในโลงไม้ที่ถ้ำองบะซึ่งอยู่ใกล้เคียง

นอกจากนี้ ยังพบตะกรันของการผลิตทองเหลืองอีกด้วย จึงเป็นสถานที่น่าสนใจศึกษาเรื่องเศรษฐกิจการค้าและการถลุงโลหะในอดีตของพื้นที่ใกล้แนวเทือกเขาฝั่งตะวันตกพบภาชนะตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซ่งเหนือจนถึงซ่งใต้ รวมทั้งเหรียญอีแปะที่อยู่ในยุคสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือทั้งสิ้น (มนัส โอภากุล. อีแปะจีน ใต้พื้นดินเมืองสุพรรณ. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๔ (กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙) หน้า.๑๘๙-๑๙๖)

นอกจากนั้นยังพบเครื่องถ้วยแบบเตาบุรีรัมย์ เครื่องเหล็กต่างๆ สามารถยืนยันอายุของชุมชนขนาดใหญ่บริเวณบ้านหนองแจงน่ามีการอยู่อาศัยและเป็นชุมชนถลุงโลหะที่ได้แร่ดิบจากเทือกเขาภายใน เปลี่ยนเป็นก้อนโลหะ [Ingot] จะอยู่ในช่วงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา สัมพันธ์กับพ่อค้าชาวจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือและน่าจะเรื่อยมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยประมาณ พระพุทธรูป พระพิมพ์ แม่พิมพ์พระพุทธรูปแบบซุ้มปรางค์ พระพุทธรูปนาคปรก  และพระพิมพ์ดินเผาแบบซุ้มพุทธคยาที่เลียนแบบพระพิมพ์แบบปาละหรือพุกามชัดเจน 

อย่างไรก็ตาม พบการฝังพระพุทธรูปบูชาใส่ในไหจากจีน รูปแบบการฝังพบทั้งที่ฝังไว้ในกรุศาสนสถานขนาดเล็ก หรือฝังในพื้นดินซึ่งน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยแล้วทำเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะชุมชนแบบชุมนุม (ชุมนุมหนึ่งๆ อาจจะมีราว ๑-๒ ครัวเรือน / ประเมินจากแผนที่เก่าสมัยรัชกาลที่ ๖ - ๗ คำว่าชุมนุมหมายถึงบ้านห่าง) ซึ่งพบการฝังแบบนี้เต็มพื้นที่บริเวณบ้านหนองแจงและชุมชนโบราณใกล้เคียง ทางด้านเหนือไปถึงบริเวณตัวอำเภอดอนเจดีย์ในปัจจุบัน ส่วนด้านตะวันออกเฉียงใต้มีทิศทางเดินทางบกเข้าสู่แถบวัดสมอลมริมลำน้ำท่าว้าที่พบเหรียญอีแปะจีนสมัยฮั่นและสมัยซ่ง 

 

บริเวณนี้ชาวบ้านเรียกกันในยุคเก่าว่า ‘ท่าข้าม’ สามารถเดินทางไปยังริมลำน้ำสุพรรณทิศทางไปยังแนวคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสุพรรณบุรีในยุคสมัยอยุธยา ส่วนทิศทางจากนั้นลงใต้ไปตามลำน้ำท่าว้าจนถึงบ้านท่าว้าหรือท่าสเด็จในปัจจุบัน ที่มีสระสี่เหลี่ยมศักดิ์สิทธิ์จำนวน ๔ สระ ทั้งชื่อสถานที่และการทำสระศักดิ์สิทธิ์สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นบริเวณสุดท้ายก่อนเข้าสู่อาณาบริเวณเมืองสุพรรณภูมิหรือก่อนหน้านั้นคงเป็นบ้านเมืองที่กำลังก่อร่างสร้างตัวในกลุ่มสหพันธรัฐเจนลีฟูในการส่งสินค้าป่าจากผู้คนบนที่สูงแก่บ้านเมืองในแถบลุ่มน้ำท่าว้าและสุพรรณ 

จากนั้นคือ ‘วัดเขาดิน’ ที่คำบอกเล่าจากท่านเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิในยุคเก่าผ่านอาจารย์มนัส โอภากุล ว่านำเอาพระพุทธบาทไม้จำหลักลวดลายเรื่องพุทธประวัติและลายสัญลักษณ์มงคลที่น่าจะทำขึ้นร่วมสมัยกับชุมชนโบราณที่กล่าวมา และย่านสวนแตงต่อเนื่องกับลำน้ำทั้งทางจระเข้สามพันและนาลาวและสองพี่น้อง จุดนี้ถือเป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางเดินทางและเศรษฐกิจมาแต่โบราณ  

ส่วนด้านเหนือขึ้นไปตามลำน้ำท่าว้าและแม่น้ำสุพรรณ ก็จะพบแพรกน้ำใหญ่ที่บางขวาก พบโบราณวัตถุตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิจำนวนมากในหลุมฝังศพบริเวณโรงงานน้ำตาลและต่อมาคือในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ พบมากบริเวณสะพานข้ามลำน้ำบางขวาก ส่วนทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำท่าคอยมีกลุ่มวัดโบราณตั้งแต่วัดลาดสิงห์ หนองผักนาก และหนองโรงไปจนถึงโป่งแดง ซึ่งบริเวณนี้น่าจะเป็นชุมชนบ้านด่านพบเนินดินขนาดใหญ่ เศษภาชนะที่พบไม่มีจากแหล่งเตาทางสุโขทัยหรือศรีสัชนาลัยแต่อย่างใด เหนือวัดลาดสิงห์ไม่ไกลนักมีโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสในผังขนาดราว ๕๐ x ๕๐ เมตร เรียกกันว่าเนินทางพระ พบโบราณวัตถุทั้งที่เป็นศาสนสถาน พระบูชา พระเครื่องเนื้อชินขนาดเล็กที่เรียกว่าพระร่วง ศาสนสถานประดับด้วยลายปูนปั้น รูปแบบเหมือนกับที่บ้านหนองแจง บ้านดอนกระโดนทางตอนเหนือ และที่เมืองโกสินารายณ์ ริมแม่น้ำแม่กลองในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี รูปแบบปูนปั้นที่ประดับศาสนสถานเช่นเทวดาต่างๆ รวมถึงพระพุทธรูปที่ทรงเทริดขนนก อิทธิพลศิลปกรรมแบบปาละในช่วงหลังครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ชัดเจนล้วนมีความคล้ายคลึงกัน และดูเหมือนจะมีอิทธิพลจากทางพุกามโดยมาก  

จากนั้นขึ้นไปทางเหนือบริเวณแยกคลองโป่งแดงและเหนือขึ้นไปคือย่านวังสำเภาล่มและแพรกน้ำกระเสียว  ซึ่งพบแหล่งชุมชนริมน้ำอีกสองสามแห่ง จากนั้นข้ามน้ำกระเสียวไปยังบริเวณบ้านหัวเขาในอำเภอเดิมบางนางบวชแหล่งชุมชนเหนือสุดทางฝั่งน้ำสุพรรณที่พบหลักฐานคือบ้านดอนกระโดนในอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ซึ่งอยู่ไม่ไกลและใกล้เคียงกับแนวระนาบของบ้านดงคอนและเมืองแพรกศรีราชา