และยังพบพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางสมาธิแบบทวารวดี พิมพ์ตะกั่วรูปพระโพธิสัตว์ และพิมพ์ตะกั่วรูปสตรี ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับจารึก ‘ปุษยคีรี’ พบที่หน้าเขาทำเทียม อิทธิพลแบบวัฒนธรรมการนับถือพุทธศาสนาแบบมหายานแบบปาละจากชายฝั่งอินเดียตะวันออกในรัฐโอดิชาหรือกลิงคะแต่เดิม ส่งผ่านสู่อาณาบริเวณเมืองอู่ทองมาโดยตลอด เพราะแนวเทือกเขาหลังเมืองอู่ทองและลำน้ำที่ไหลจากที่สูงคือห้วยจะร้ามีการสืบต่อการแสวงบุญและอุทิศพระพิมพ์เพื่อสืบต่อทางพุทธศาสนาในถ้ำต่างๆ ของแนวเทือกเขานี้ที่รู้จักกันในนามของ ‘พระถ้ำเสือ’ เป็นพระพิมพ์ดินดิบพิมพ์แบบง่ายๆ ส่วนใหญ่เป็นปางมารวิชัยและมีบ้างที่เป็นพระพุทธรูปยืน แม้จะสร้างด้วยฝีมือแบบหยาบๆ อาจจะเนื่องจากต้องการบรรจุจำนวนมาก
โดยลักษณะแล้วก็ดูเหมือนจะเป็นพระที่สร้างในช่วงเวลาที่เรียกว่าสมัยลพบุรีราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ เป็นต้นมา และพระถ้ำเสือส่วนใหญ่ที่พบนั้นอยู่ในถ้ำตามแนวเทือกเขาซึ่งมักพบศาสนสถานบนยอดเขา รูปแบบอาคารลักษณะเดียวกับศาสนสถานบนเขารางกะบิด คือสร้างบนแนวหินธรรมชาติของเขาเหล่านั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและสี่เหลี่ยมผืนผ้า บางแห่งพบพระพุทธบาทหินลวดลายสัญลักษณ์มงคลที่มีความสืบเนื่องกับลวดลายสมัยทวารวดีคือ ‘พระบาทดีสลัก’ ซึ่งพบพระพิมพ์ดินดิบแบบพระถ้ำเสือร่วมด้วย
ศาสนสถานบนยอดเขาพระหรือเขาดีสลักที่กล่าวว่าพบรอบพระบาทจำลอง (ซ้าย)
ซึ่งใต้พระบาทพบพระถ้ำเสือ (ขวา)
ดังนั้นบริเวณเมืองอู่ทองและอาณาบริเวณจึงมีการอยู่อาศัยสืบเนื่องต่อจากยุคทวารวดีที่เข้าใจกันมาจนถึงสมัยปลายยุคทวารวดีต่อกับยุคสมัยที่เรียกว่าทั่วไปว่ายุคลพบุรีและเข้าสู่ยุคลพบุรีจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ทีเดียว
๒. บริเวณที่ดอนเชิงเขาตะนาวศรีลาดลงสู่ลำน้ำท่าว้าตั้งแต่บริเวณแนวเขาทำเทียมที่อู่ทอง เขาพระสองสามแห่งและปลายสุดที่เขาวงเป็นพื้นที่ติดต่อกับทางสระกระโจมซึ่งเป็นบ้านด่านชายป่า มีชุมชนสำคัญต่อเนื่องในพื้นที่ดอนแห้งแล้งนี้คือ ชุมชนโบราณที่บ้านหนองแจง พบการขุดสระรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสหลายสระ กล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มๆ ราว ๒ หรือ ๓ แห่งและแนวคันดินทำเป็นทำนบและคูน้ำเป็นแนวยาวมากกว่าห้าหกแนวเพื่อปะทะน้ำหลากจากป่าหรือที่สูงบังคับลงสระที่ขุดไว้ เนื่องจากไม่มีลำห้วยลำน้ำตามธรรมชาติที่สามารถเลี้ยงดูคนในชุมชนได้ทั้งปี บริเวณหนองแจงเป็นพื้นที่แห้งแล้งไม่เหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐานในระดับชุมชนเมืองมาจนถึงปัจจุบัน
ศาสนสถานบนเขาวงเป็นฐานอาคารขนาดใหญ่ ข้อมูลโดยกรมศิลปากร
มักสรุปเพียงอายุสมัยอยุธยา บริเวณนี้พบการบรรจุพระถ้ำเสือจำนวนมาก