พื้นที่ระหว่างกลางมีแม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำน้อยทางฝั่งตะวันออก ต่อมาไล่มาทางตะวันตกคือลำน้ำสีบัวทองและเครือข่ายสายน้ำใหญ่น้อยต่างๆ ต่อมาคือแม่น้ำสุพรรณ และเมื่อถึงบริเวณสามชุกก็มีแนวแม่น้ำเก่าสำคัญอีกแห่งคือ แม่น้ำท่าคอยหรือท่าว้าที่ไปต่อกับลำน้ำจระเข้สามพันที่ผ่านเมืองอู่ทอง
ข้อค้นพบจากการพิจารณาแหล่งโบราณคดีสำคัญในพื้นที่สามารถนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นได้ดังนี้
๑. เมืองอู่ทอง อยู่ในเส้นทางคมนาคมจากชายฝั่งทะเลและแนวเทือกเขาตะนาวศรีทางใต้มาตามลำน้ำแม่กลองหรือแม่น้ำภาชี เข้าสู่แหล่งทรัพยากรที่สำคัญคือเหมืองดีบุกในกลุ่มอำเภอสวนผึ้ง ทุ่งคา และจอมบึง ในจังหวัดราชบุรี และเหมืองตะกั่วในพื้นที่ระหว่างลำน้ำแควน้อยและแควใหญ่ ซึ่งมีกลุ่มคนบนที่สูง เช่น ‘ชาวละว้า’ เป็นผู้เสาะหาทรัพยากรธรรมชาติ เช่นไม้หอม เขาสัตว์ หนังสัตว์ ขี้ผึ้ง รวมทั้งนำแร่ธาตุที่มีอยู่ตามลำธารต่างๆ รวบรวมส่งขายแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าคนกลางหรือส่งส่วยให้กับรัฐท้องถิ่น
พระสถูปบนเขารางกะบิด ฐานทำด้วยหินก้อนใหญ่และอิฐแบบทวารวดี
พบพระพิมพ์แบบมหายานอิทธิพลแบบปัลลวะจารึกอักษรหลังปัลลวะ ภาษามอญ
พระราชานาม ‘กษัตริย์มะระตา’ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕
จากนั้นมีการเดินทางตัดผ่านทางบกระหว่างตะวันตก-ตะวันออก เลียบพื้นที่ดอนและพื้นที่ราบเชิงเขาจากแควใหญ่สบกับลำตะเพิน ผ่านดอนตาเพชร เข้าสู่แนวเทือกเขาทำเทียม เขาพระ ไปจนจรดเขาวงที่อยู่ปลายเทือกเขาทางเหนือสุด เมืองอู่ทองตั้งอยู่หลังแนวเทือกเขาดังกล่าว และเป็นพื้นที่ติดต่อกับที่ราบลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง ซึ่งมีเส้นทางคมนาคมที่สำคัญคือลำน้ำจระเข้สามพันที่ไปต่อกับแม่น้ำท่าว้าทางเหนือและลำน้ำสองพี่น้องทางตะวันออก ร่องรอยของเส้นทางเดินทางนี้ มีชุมชนในสมัยยุคเหล็กหรือสุวรรณภูมิหรือในสมัยราชวงศ์ฮั่นของจีนปรากฏอยู่โดยตลอด และน่าจะเป็นเส้นทางสำคัญเส้นทางหนึ่งของการปรากฏวัฒนธรรมในยุคเหล็กบริเวณพื้นที่ลุ่มลพบุรี - ป่าสัก และขึ้นเหนือไปทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำปิง
การคงอยู่ของเมืองอู่ทองนั้นนับแต่ยุคเหล็กเป็นต้นมาก็เข้าสู่ยุคฟูนัน เข้าสู่ยุคทวารวดี จนถึงยุคทวารวดีตอนปลายราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ก็ยังพบพระพิมพ์แบบมหายานอิทธิพลแบบปัลลวะจารึกอักษรหลังปัลลวะภาษามอญถึงพระราชานาม ‘กษัตริย์มะระตา’ ผู้อุทิศทำบุญสร้างพระพิมพ์ประดิษฐานในอาคารศาสนสถานพุหางนาคบนเทือกเขารางกะบิด
พระพิมพ์แบบมหายานอิทธิพลแบบปัลลวะจารึกอักษรหลังปัลลวะ ภาษามอญ
พระราชานาม ‘กษัตริย์มะระตา’ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕