บันทึกซ่งฮุยเหยากล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติของเจนลีฟูที่เป็นสินค้า เช่น งาช้าง นอแรด ขี้ผึ้ง ไม้หอม น้ำมันหอม กระวาน และไม้มะเกลือ พระราชาอยู่ในพระราชวังที่คล้ายกับวัดทางพุทธศาสนา ใช้เครื่องใช้ทำด้วยทองคำ ทรงพระภูษาสีขาว พลับพลาประดับกระโจมทำด้วยผ้าไหมจีนแบบนุ่ม ผ้าม่านเป็นผ้าสาลูดิ้นทอง เมื่อข้าราชบริพารไปที่ราชสำนักก็จะถวายความเคารพพนมมือนบนอบแก่พระราชา
การเขียนของพวกเขาจะเขียนลงบนกระดาษพื้นดำตัวอักษรสีขาว ประชาชนประพฤติตามกฎเกณฑ์ทางพุทธศาสนา เมื่อมีข้อขัดแย้งก็มักจะพากันไปที่วัดและดื่มน้ำสาบานต่อหน้าพระถ้าใครพูดไม่จริงขอให้มีอันเป็นไป ซึ่งคนพูดโกหกมักตกใจกลัวจนยอมรับในที่สุด และสำหรับการค้าเสื้อผ้าแพรพรรณและอาหาร พวกเขาใช้ชิ้นส่วนของแร่ตะกั่วเป็นเงินตรา พวกเขาจะซื้อสินค้าจากเรือสินค้าจีนพวกผ้าสาลูโปร่งสีแดงแห้งๆ และภาชนะจากเมืองจีน
พระราชสาส์นจากเจนลีฟูนั้นเขียนด้วยภาษาของเขาเอง ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นภาษาใดและมีการทำสำเนาเป็นภาษาทมิฬเก่า (มาละบาร์) โดยพราหมณ์จากราชสำนักอีกฉบับหนึ่งส่งมาด้วย โดยพระราชสาส์นม้วนใส่ไว้ในกล่องทองคำลงยาสลักลวดลาย
นครรัฐเจนลีฟูประกอบด้วยบ้านเล็กเมืองน้อยกว่า ๖๐ แห่ง และการปกครองน่าจะยังเป็นระบบสหพันธรัฐที่มีเมืองสำคัญของพระราชาผู้มีบารมีที่มีเมืองตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสำคัญที่สามารถเดินทางออกสู่ปากน้ำได้สะดวกพอประมาณ เจนลีฟูนั้นนับถือพุทธศาสนาอย่างแจ้งชัด การซื้อขายในตลาดใช้โลหะที่เป็นแร่ตะกั่ว
ซึ่งในบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยาในบริเวณเมืองโบราณหลายแห่งก็มักพบก้อนตะกั่วรูปแบบต่างๆ มากมาย คงใช้ในอัตราน้ำหนักแทนที่การใช้หอยเบี้ยในช่วงก่อนและหลังจากยุคสมัยนี้ ที่ตั้งและชุมชนบริวารน่าจะอยู่ในบริเวณลุ่มเจ้าพระยาที่น่าจะอยู่ด้านบนสุด ซึ่งอาจจะต้องใช้การเดินทางมายังเมืองปากน้ำชายฝั่งทะเลราวหนึ่งสัปดาห์ น่าจะเป็นบ้านเมืองที่มีความสำคัญทางการเมืองรวมไปถึงการค้าและระบบเศรษฐกิจที่โดดเด่นกว่าเมืองละโว้ที่อยู่ทางตะวันออกในยุคสมัยเดียวกัน
และในช่วงเวลานั้น ‘เจนลีฟู’ เป็นอิสระจากอำนาจทางการเมืองของกัมพูชาเทศะที่เมืองพระนครหรือนครธมในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อย่างชัดเจน
‘เจนลีฟู’ วิเคราะห์จาก ‘ฐานข้อมูลวัตถุทางวัฒนธรรมของมนัส โอภากุล’ และการทบทวนสำรวจงานโบราณคดีในปัจจุบัน
มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้รับโอกาสจาก คุณยืนยง โอภากุล บุตรชายของ อาจารย์มนัส โอภากุล ผู้ล่วงลับ อาจารย์มนัสจัดระบบฟิล์มเนกาทีฟขาวดำที่ถ่ายภาพทั้งสิ่งของและเหตุการณ์ของเมืองสุพรรณไว้ตลอดช่วงชีวิตอันยาวนานเกิน ๙๐ ปีของท่านไว้อย่างเป็นระบบ เป็นภาพถ่ายโบราณวัตถุสำคัญที่ระบุสถานที่พบ ไม่เพียงแต่จะเป็นกลุ่มพระเครื่องเมืองสุพรรณเท่านั้น แต่ยังบันทึกภาพพระบูชาและเทวรูปแบบท้องถิ่นทำจากสัมฤทธิ์องค์ขนาดย่อมๆ มีรูปแบบหลากหลาย
ที่สำคัญคือระบุแหล่งที่พบชัดเจน แม้จะไม่สามารถชี้จุดได้ทุกแห่งแต่เมื่อนำมาจัดทำเป็นแผนที่ก็พบร่องรอยของความสัมพันธ์ในช่วงเวลาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ ที่ถูกเรียกมาโดยตลอดว่าเป็น ‘ยุคลพบุรี’ ถือเป็นระบบจดหมายเหตุที่จัดระบบไว้อย่างละเอียดลออ มีความสมบูรณ์แบบ ซึ่งจัดทำด้วยคนเพียงคนเดียว ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์เกินยุคสมัยที่ริเริ่มเก็บรักษาและสมควรที่จะได้รับการทำงานในระบบหอจดหมายเหตุ [Archive] อย่างยิ่ง
จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายสามารถค้นพบข้อมูลทางโบราณคดีที่สำคัญชัดเจนขึ้นในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน้อยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี และหาความสัมพันธ์ของพื้นที่ชุมชนโบราณต่างๆ ที่สัมพันธ์กับยุคสมัยการมีอยู่ของบ้านเมืองที่ชื่อ ‘เจนลีฟู’ ในพื้นที่ตอนบนของลุ่มเจ้าพระยา
ชุมชนต่างๆ เหล่านี้มีพัฒนาการของบ้านเมืองที่สัมพันธ์กับเส้นทางคมนาคมและเศรษฐกิจสู่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ มีกลุ่มบ้านเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำระหว่างกลางของแม่น้ำน้อยและแม่น้ำท่าจีนและลำน้ำเก่าและลำน้ำกุดต่างๆ อีกมากมายหลายสาย ถือเป็นบ้านเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำ [Riverine area] อย่างแท้จริง
พิจารณาจากแผนที่ชุมชนโบราณที่สร้างขึ้นจากฐานข้อมูลดังกล่าว ผสมผสานกับความรู้ทางโบราณคดีที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้เพื่อแสดงเส้นทางน้ำ แนวเขาสำคัญ และแหล่งโบราณคดีที่พบโบราณวัตถุอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ ในอาณาบริเวณภูมิภาคตะวันตกตั้งแต่พื้นที่ดอนเชิงที่ราบเชิงเขาของเทือกเขาตะนาวศรีไปจนถึงแนวขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา