ผู้เข้าชม
0
6 มีนาคม 2568

ส่วนที่เหนืออ่าวไทย น่าจะหมายถึงปากน้ำเจ้าพระยา ซึ่งบริเวณปากน้ำเจ้าพระยานี้อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม วิเคราะห์ภายหลังว่าน่าจะสอดรับกับบ้านเมืองริมน้ำเจ้าพระยาที่เก่าแก่ก่อนการขุดคลองลัดบางกอกและคลองลัดเกร็ดใหญ่ที่เชียงราก บริเวณคลองบางควายและคลองบางเตยริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสามโคกในปัจจุบัน แล้วใช้เส้นทางตามลำแม่น้ำน้อยเดินทางขึ้นไปถึงเมืองแพรกศรีราชาซึ่งอาจารย์ศรีศักร สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญของสหพันธรัฐเจนลีฟูช่วงต้นของพุทธศตวรรษที่ ๑๘

เมืองท่าของ ‘เจนลีฟู’ ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ กล่าวว่าเป็นสถานที่พลุกพล่านที่สุดและมีเรือเดินทะเลเข้าถึงได้ ผู้คนชมชอบเครื่องปั้นดินเผาของจีนเป็นพิเศษ เป็นสถานที่ซึ่งนำเอา ‘นอแรด’ จำนวนหนึ่ง (เขตนี้มีชื่อเรื่องนอแรดหายากมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง) และ ‘ช้าง’ ขึ้นเรือไปถวายพระเจ้ากรุงจีนได้ ผู้คนของเจนลีฟูในยุคนั้นยังไม่สามารถระบุกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างชัดเจน
 


เศษภาชนะแบบเครื่องเคลือบแบบจีนและจากเตาบางปูนและภาชนะต่างๆ
จากท้องน้ำแม่กลองหน้าวัดเกาะนัมมทาปทวลัญชารามเมืองราชบุรี 

 

 

แต่อาจารย์โวลเตอร์สก็เชื่อว่าน่าจะเป็นมอญอยู่มากและคงไม่ใช่คนไตหรือไทผู้เป็นเจ้าของอักษรและภาษาไทยเสียทีเดียว ซึ่งอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ให้ข้อเสนอว่า ในยุคนี้เริ่มเห็นว่ามีร่องรอยของกลุ่มชาติพันธุ์ปะปนกันอย่างชัดเจน เพราะพบทั้งรูปแบบทางศิลปกรรมแบบดั้งเดิมในสมัยทวารวดีที่น่าจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาในกลุ่มตระกูลมอญ - เขมรเป็นพื้น จารึกจำนวนหนึ่งกล่าวถึงข้าพระที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไต รวมทั้งจารึกในภาษาไทหรือไต แต่ใช้อักษรขอมระบุตำแหน่งและชื่อผู้นำชุมชน เช่นที่ปราสาทเมืองสิงห์ชื่อ พระยาไชยกรรวมทั้งผู้อพยพจากเมืองจีนในบริเวณเมืองท่าค้าขายและร่องรอยของตำนานที่เห็นเป็นแนวทางเดียวกันในเรื่องพ่อค้าชาวจีนเข้ามาค้าขายและแต่งงานกับชาวพื้นเมืองสืบมา 
 


โอ่งขนาดใหญ่พบที่โคกพริก ริมคลองแม่น้ำอ้อม
ต่อเนื่องกับเมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี