อย่างไรก็ตามมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าแหล่งเตาเวียงกาหลงนี้อาจเป็นที่เดียวกับเมืองแช่สัก แหล่งผลิตภาชนะสำคัญในสมัยพญากือนา (ศิลปวัฒนธรรม, 2542: 50-53) ซึ่งหากเป็นดังที่ผู้สันนิษฐานไว้แล้วนั้น แสดงว่าเตาเวียงกาหลงน่าจะสามารถผลิตภาชนะชั้นดีได้แล้วตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ หรือก่อนหน้านั้น
อีกแหล่งคือแหล่งเตาพาน อ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งปัจจุบันยังมีการศึกษาเพียงเล็กน้อยและกำหนดอายุโดยการศึกษาเปรียบเทียบว่ามีช่วงการผลิตอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ และที่สำคัญมีอายุใกล้เคียงกับช่วงเวลาในตำนานคือแหล่งเตาเวียงบัว ตั้งอยู่บริเวณเมืองโบราณเวียงบัว ต.แม่ต๋ำ อ.เมืองพะเยา เป็นแหล่งผลิตภาชนะที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของอาณาจักรภูกามยาว
ซึ่งได้มีการสำรวจพบการกระจายตัวของเตาเผาในพื้นที่ประมาณ ๔ ตารางกิโลเมตร แต่มีการขุดค้นทางโบราณคดีเพียง ๓ เตา คือเตาพ่ออุ้ยแต๋ง และเตาเก๊ามะเฟือง ๑-๒ โดยมีการนำถ่านที่เกิดจากกระบวนการใช้งานครั้งสุดท้ายของเตาเก๊ามะเฟือง-๑ ไปกำหนดอายุด้วยวิธี C-๑๔ พบว่ามีค่าอายุอยู่ใน พ.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๔๔ ร่วมสมัยกับรัชกาลพญางำเมือง
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตานี้ มีการตกแต่งด้วยลวดลายพิเศษ เช่น สิงห์ ช้าง ม้า นกยูง พระอาทิตย์และลายมงคลต่าง ๆ เช่น ธรรมจักร ก้นหอย อนันตวัฏฏะ ศรีวัตสะ นกยูง ซึ่งมีความงดงามและสื่อให้เห็นถึงเทคนิคขั้นสูงและความหมายที่เป็นสิริมงคล รูปแบบการตกแต่งเช่นนี้ไม่พบจากแหล่งเตาใด ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน รวมทั้งยังไม่เคยพบชิ้นส่วนภาชนะกลุ่มนี้ในแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ ในประเทศไทยรวมทั้งใน จ.พะเยา
จึงน่าจะถูกผลิตเพื่อใช้เป็นภาชนะที่ใช้ในพิธีกรรมหรือราชสำนักของเมืองภูกามยาวและน่าจะยุติการผลิตไปเมื่อสิ้นรัชกาลพญางำเมืองหรืออย่างช้าเมื่อเมืองภูกามยาวถูกปกครองโดยเมืองเชียงใหม่ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ส่วนช่วงเวลาเริ่มผลิตภาชนะของแหล่งเตานี้ จะร่วมสมัยกับอาณาจักรหริภุญไชยและเป็นเหตุให้ชาวมอญในหริภุญไชยเรียกภูกามยาวว่า “ถมุยนคร” หรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ส่วน “ทุรฆะรัฐะนคร” นั้น พระยาประชากิจกรจักร ได้มีวงเล็บไว้ว่า (เมืองยาว) และทำเชิงอรรถขยายความไว้ว่า “น่าจะเป็นเมืองเชียงรุ้ง เพราะเชียงรุ้งแปลว่ายาวและไกล” นอกจากนั้นยังระบุว่า “ตำนานทั้งหลายเรียกเมืองเชียงรุ้งว่า อาฬวีรัฏฐะ สมมุติว่าเมืองอาฬวกยักษ์ บางแห่งเรียกว่า อภิทุรฆะรัฏฐะ บ้าง” (2516: 15, 205)
แต่ ทวี สว่างปัญญากูร ระบุว่าเมืองเชียงรุ้งมีชื่อเป็นภาษาบาลีไว้ว่า“สิริวิสุภวภต” ส่วนตำนานพื้นเมืองสิบสองพันนาเรียก อารวี อาฬวี หรือ อาลโวสวนตาล (2529: 8) ทั้งนี้ตำนานกล่าวถึงประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวสิบสองปันนาย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล แต่เริ่มลำดับรายพระนามและช่วงเวลาของกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองในสมัยพญาเจิงซึ่งประสูติใน พ.ศ. ๑๕๕๐ ขึ้นครองเมืองเชียงรุ่งใน พ.ศ. ๑๕๘๕ และสวรรคตใน พ.ศ. ๑๖๓๖
เป็นลายเอกลักษณ์ของแหล่งเตาเวียงบัว ที่มา: สายันต์ ไพรชาญจิตร. (2567). เครื่องถ้วยพะเยา.
กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาพัฒนาโบราณคดีชุมชน. น. 72