และอพยพกลับมาราว พ.ศ. ๑๔๙๖ ในช่วงเวลาเดียวกับจักรพรรดิต่างเมืองเข้ามาปกครองเมืองหริภุญไชยและสวรรคตลงในราว พ.ศ. ๑๕๐๕ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการร้างกษัตริย์ของเมืองภูกามยาวใน พ.ศ. ๑๕๒๙ ตามตำนานเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติ ๒๔ ปี
เมื่อทำการสืบหาที่ตั้งเมืองด้วยการถอดความหมายของชื่อเมืองทั้ง ๔ ด้วยความอนุเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์หลายท่าน พบว่า คำว่า “อภิภุยย” นั้น แปลตามศัพท์บาลี หมายถึง พระนครที่ควรไปบ่อย ๆ (พระมหาสิทธิทัศน์ ปญฺญาสิริ, 11 มกราคม 2567) และปรากฏชื่อ “ดอยพุย” เป็นเขาลูกหนึ่งในอาณาเขตภูกามยาวซึ่งมีลำห้วยน้อยแห่งหนึ่งคือ “ห้วยแก้ว” (เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี, 2557: 102) ซึ่งน่าจะเป็นบริเวณ ต.ห้วยแก้ว อ.ภูกามยาว ด้านตะวันออกของดอยด้วนในปัจจุบัน
นอกจากนั้นยังพบชื่อ “เวียงพูย” หรือ “เวียงภูยะ” ว่าเป็นเมืองที่พญามังรายโปรดให้มางคุ้มและมางเคียนลัวะ ๒ พี่น้อง ตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นที่มั่นในการตีเมืองเชียงตุง (กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2545: 131 และ 228) ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หรือต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเป็นช่วงเวลาห่างจากการเสียเมืองหริภุญไชยให้เจ้าต่างเมืองในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ มาก
ส่วน “อติคุยปุระ” แปลตามศัพท์บาลีได้ว่า สถานที่เต็มไปด้วยเหล็ก หรือไม้เสียบ หรือเหล็กแหลม (พระมหาสิทธิทัศน์ ปญฺญาสิริ, 14 ธันวาคม 2567) จึงน่าจะหมายความถึงเมืองที่มีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้หรืออาวุธจากเหล็ก ประเด็นนี้แม้บริเวณเชิงเขาฝั่งตะวันออกของดอยด้วน จะสำรวจพบร่องรอยของอุตสาหกรรมการหล่อโลหะและทำเครื่องมือเหล็กคุณภาพสูงในหลายบริเวณ แต่ยังขาดบริบททางโบราณคดีที่จะเชื่อมโยงความสำคัญของแหล่งโลหะกรรมนี้ว่าเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเมืองพะเยาอย่างไร
ส่วนคำว่า “ถมุย” ในเชิงพื้นที่เป็นชื่อเมืองแห่งหนึ่งในรัฐอานธรประเทศ ประเทศอินเดีย (อุเทน วงศ์สถิตย์, 12 ธันวาคม 2567) ซึ่งในพุทธศตวรรษที่ ๑๐ พื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐนี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ปัลลวะที่ส่งอิทธิพลทางศาสนาและศิลปะมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๗ โดยในประเทศไทยนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ศิลปะทวารวดีตอนปลาย” แต่หากแปลตามศัพท์ภาษาบาลี จะมีความหมายว่าลูกรัง (พระมหาสิทธิทัศน์ ปญฺญาสิริ, 11 มกราคม 2567) และหากเป็นภาษามอญมีความหมายว่า “หม้อ” (พงษ์เกษม สนธิไชย, 17 ธันวาคม 2567) ดังนั้น “ถมุยนคร” ในภาษาบาลี จึงหมายถึงเมืองที่เต็มไปด้วยลูกรัง หรือแปลว่าเมืองที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตหม้อตามภาษามอญ
ในเขตแดนของอาณาจักรภูกามยาว ปัจจุบันพบแหล่งผลิตภาชนะที่สำคัญอยู่ ๓ แหล่ง คือแหล่งเตาเวียงกาหลง แหล่งเตาพานและแหล่งเตาเวียงบัว โดยแหล่งเตาเวียงกาหลงนั้นเป็นแหล่งผลิตภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ระดับอุตสาหกรรมครอบคลุมพื้นที่อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย และ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ทั้งนี้ผลการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์จากแหล่งเตาแม่เฮียว อ.วังเหนือ พบว่ามีการผลิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๔ (นนทรัตน์ นิ่มสุวรรณ, 2551: 51-55 และสายันต์ ไพรชาญจิตร, 2553: 194)
.jpg)
ชามเคลือบเขียวแกมเหลือง ประทับลายสิงห์กลางสุริยมณฑล
ลายเอกลักษณ์ของแหล่งเตาเวียงบัว ที่มา: สายันต์ ไพรชาญจิตร. (2567). เครื่องถ้วยพะเยา.
กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาพัฒนาโบราณคดีชุมชน. น. 49