ผู้เข้าชม
0
20 มกราคม 2568

ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เป็นช่วงที่ขุนจอมธรรมเข้ามาฟื้นฟูภูกามยาวและขยายอาณาเขตด้านทิศใต้ของเมืองไปชนกับเขตแดนของเมืองเขลางค์ที่ประตูผา (ปัจจุบันคือเทือกเขาประตูผาในพื้นที่รอยต่อของ อ.งาว และ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง) นั้น เมืองเขลางค์ยังเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรหริภุญไชย

จึงมีประเด็นที่น่าสังเกตคือในขณะที่ตำนานเมืองหริภุญไชยกล่าวถึงสงครามกับเจ้าต่างเมืองหลายครั้งแต่กลับ ไม่ปรากฏเอกสารใด ๆ กล่าวถึงสงครามระหว่างหริภุญไชยและภูกามยาว จึงเป็นได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว สถานการณ์ทางการเมืองของเมืองหริภุญไชยไม่เข้มแข็งนัก ขุนจอมธรรมจึงสามารถขยายอำนาจเข้าไปในเขตของเขลางค์นครโดยไม่เกิดการสูญเสียไพร่พลมากมายจนต้องถูกกล่าวไว้ในเอกสารประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์หริภุญไชยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗

ประวัติศาสตร์ของเมืองหริภุญไชยถูกกล่าวไว้ในเอกสาร ๕ ฉบับ คือ ตำนานมูลศาสนา จามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลินี ชินกาลมาลีปกรณ์ (ซึ่งแปลจากต้นฉบับเดียวกับชินกาลมาลินี) และพงศาวดารโยนก ทั้งนี้พระโพธิรังสีผู้รจนาจามเทวีวงศ์ได้กล่าวว่า “หริปุญชัยนิทเทศดังนี้ พระมหาเถรผู้มีนามว่าโพธิรังสี ได้แต่งไว้แล้วตามคำมหาจารึก” แสดงว่าพระโพธิรังสีได้แต่งจามเทวีวงศ์ขึ้นตามตำนานที่มีมาก่อนหน้านั้น

ต่อมาเมื่อล้านนาอยู่ในการปกครองของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีการแปลจามเทวีวงศ์ขึ้น แต่ผู้แปลพบว่าเนื้อความปริเฉทที่ ๔, ๕ และ ๖ ขาดไป จึงนำเนื้อความในชินกาลมาลีปกรณ์มาแทรกให้ครบถ้วน โดยเนื้อความแทรกที่สำคัญคือศักราช ที่ฤาษีวาสุเทพสร้างเมืองหริภุญไชย และพระเจ้าอาทิตยราชผู้สร้างพระธาตุหริภุญชัยขึ้นครองเมือง ดังนั้นศักราชที่ปรากฏในเอกสารทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าวจึงไม่ต่างกัน

ส่วนพงศาวดารโยนกนั้นเป็นเอกสารเพียงฉบับเดียวที่ระบุศักราชที่กษัตริย์ขึ้นครองเมืองหริภุญไชยถี่มากกว่าฉบับอื่น ๆ จึงเป็นได้ว่าพระยาประชากิจกรจักรอาจมีตำนานเมืองหริภุญไชยอีกฉบับหนึ่งซึ่งต่างจากจามเทวีวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์ ทั้งนี้ตำนานทั้ง ๕ ฉบับ มีรายละเอียด และระบบบันทึกข้อมูลดังนี้

 

 

ตาราง -๓ แสดงศักราชที่ระบุในเอกสารต่าง ๆ

หมายเหตุ    1. ระบุการครองเมืองของกษัตริย์แต่ละองค์เป็นปี เดือน           
           2. ระบุการครองเมืองของกษัตริย์เป็นปี เดือน ระบุศักราชเฉพาะช่วงสร้างเมือง และการครองเมืองของพระเจ้าอาทิตยราช
                  3. ระบุการครองเมืองของกษัตริย์เป็นปี เดือน ระบุศักราชในรัชกาลพระเจ้าอาทิตยราชและรัชกาลอื่น ๆ ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในเมืองหริภุญไชย


จากตารางจะเห็นว่าจำนวนกษัตริย์และระยะเวลาการครองเมืองหริภุญไชยตั้งแต่รัชกาลพระนางจามเทวี-พระเจ้าอาทิตยราช แม้จะมีจำนวนกษัตริย์มาก/น้อย ต่างกันถึง ๓ รัชกาล แต่ก็มีช่วงเวลาต่างกันเพียง ๓-๔ ปีเท่านั้น ส่วนตำนานมูลศาสนานั้น แม้ไม่ระบุเวลาในระบบศักราช แต่มีการลำดับช่วงเวลาการครองราชย์ของกษัตริย์แต่ละรัชกาลด้วยจำนวนปี เดือน ทั้งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นยังคล้ายคลึงกับฉบับอื่น จึงเชื่อได้ว่าเหตุการณ์ที่บันทึกในตำนานมูลศาสนานั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ปรากฏในตำนานฉบับอื่น ๆ และเป็นไปได้ว่าจะเป็น ๑ ในคัมภีร์หลายฉบับที่พระรัตนปัญญาเถระใช้ในการเรียบเรียงชินกาลมาลีปกรณ์ และเห็นด้วยว่าน่าจะเป็นเอกสารที่มีอายุเก่าแก่กว่าฉบับอื่นดังเช่นนักปราชญ์หลายท่านเคยตั้งข้อสังเกตไว้ (แสง มนวิทูร, 2516, (16) และ กรมศิลปากร, 2482: ข)

นอกจากนั้น ระบบการบันทึกที่คล้ายคลึงกันของตำนานมูลศาสนา และจามเทวีวงศ์ได้เชื่อมโยงให้เห็นว่า ระบบการบันทึกเอกสารของชุมชนโบราณในลุ่มแม่น้ำปิงก่อนที่จะเกิดการคำนวณศักราชในคัมภีร์ ที่พระรัตนปัญญาเถระนำมาอ้างอิงไว้ในชินกาลมาลีปกรณ์นั้น มีจารีตการบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองโดยผูกช่วงเวลาเข้ากับการครองราชย์ของกษัตริย์แต่ละพระองค์ ซึ่งระบุเวลาด้วยจำนวนปี เดือน