ผู้เข้าชม
0
20 มกราคม 2568

ทั้งนี้อาจกล่าวตามข้อมูลเอกสารว่า เมืองภูกามยาวร้างกษัตริย์ในจุลศักราช ๓๔๘ (พ.ศ. ๑๕๒๙) ส่วนปีที่ขุนจอมธรรมเข้าฟื้นฟูเมืองพะเยานั้น เมื่อเทียบเคียงกับศักราชที่ขุนเจืองประสูติที่ระบุในตำนานทุกฉบับ พบว่ามีศักราชที่ต่างกันถึง ๓ ช่วงเวลาคือ พ.ศ. ๑๕๘๐ พ.ศ. ๑๖๐๐ และพ.ศ. ๑๖๔๐ ซึ่งน่าสังเกตว่า พ.ศ. ๑๕๘๐ และ พ.ศ. ๑๖๔๐ เป็นช่วงเวลาห่างกันถึง ๖๐ ปี หรือ ๑ รอบนักษัตร และเอกสารทั้งหมดที่อ้างถึงล้วนเป็นเอกสารทุติยภูมิ

จึงเป็นได้ว่าความไม่สอดคล้องของช่วงเวลาที่ปรากฏ อาจเกิดผู้คัดลอกในยุคต่อมาได้ระบุศักราชเพิ่มเติมจากต้นฉบับที่เดิมอาจกำหนดเวลาเป็นปีนักษัตร หรือระบุตามลำดับเวลาเป็น ปี เดือน เช่นเดียวกับตำนานมูลศาสนา หรืออาจเกิดจากต้นฉบับเดิมชำรุดทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการคัดลอกสืบต่อกันมาและปัจจัยอื่น ๆ

ตาราง – ๒ แสดงการวิเคราะห์ค่าอายุของแหล่งโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำกก-อิง ที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาในตำนาน

ที่มา : ปรับปรุงจาก สำนักโบราณคดีที่ ๗ เชียงใหม่. (๒๕๖๖). รายงานการขุดตรวจทางโบราณคดี เมืองโบราณเวียงจันจว้า ต.จันจว้าใต้ อ.แม่จัน จ.เชียงราย, บทที่ ๕, น. ๕-๕๘

อย่างไรก็ตามการขุดค้นทางโบราณคดีในชุมชนโบราณของอาณาจักรภูกามยาวใน ๒ แหล่ง คือแหล่งโบราณคดีดอยวง ในเขต อ.แม่สรวย หรือในอดีตคือเมืองหนองขวางและเมืองโบราณเวียงลอ อ.จุน มีผลการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ว่ามีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ปรากฏในเอกสาร แต่ด้วยพื้นที่ดำเนินการเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยจากขอบเขตของพื้นที่ที่พบร่องรอยทางโบราณคดี จึงทำให้ไม่สามารถลดทอนคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของข้อมูลชุดใดได้ จึงกำหนดให้ช่วงเวลาที่เมืองภูกามยาวร้างกษัตริย์อยู่ในช่วง พ.ศ. ๑๕๒๙ ตามตำนานเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติ จนถึง พ.ศ. ๑๖๓๙ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ขุนจอมธรรมเคลื่อนย้ายเข้าปกครองภูกามยาว หรือเป็นช่วงเวลา ๓ ปี ก่อนขุนเจืองประสูติตามพงศาวดารโยนก ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗

เขตแดนอาณาจักรภูกามยาวปะทะหริภุญไชยในสมัยขุนจอมธรรม

ตำนานพื้นเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติระบุว่า หัวเมืองนอกของเมืองภูกามยาว ก่อนขุนจอมธรรมเข้ามาปกครองนั้นประกอบด้วย “ลอ เธิง หงาว เชียงแลง เชียงคำ ค่อม คา เงิม ออย ปง สะงาว แช่คอด แช่ลุง แช่หลวง แช่เหียง แช่คอด หนองขวาง แช่เชียง แช่หลวง แช่ห่ม แม่วัง แช่ทือ แช่ทาง วานเอียง” (เฉลิมวุฒิ, 2547: 97) ส่วนเอกสารอื่นระบุต่างกันเล็กน้อย โดยชุมชนที่สามารถระบุตำแหน่งได้ในปัจจุบันคือ คือ ลอ (ปัจจุบันคือเมืองโบราณเวียงลอ อ.จุน จ.พะเยา) เทิง หงาว (ปัจจุบันทั้ง ๒ เมืองนี้อยู่ในเขต อ.เทิง จ.เชียงราย) เชียงแลง (ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.ภูซาง จ.พะเยา) เชียงคำ (ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.เชียงคำ จ.พะเยา) ค่อม (เมื่อเทียบกับเอกสารอื่น ๆ สันนิษฐานว่าคือเมืองคอบ ในเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) คา ออย งิม ปง (เมื่อเทียบกับเอกสารฉบับอื่น “เมืองคา” คือเมืองควร ปัจจุบันทั้ง ๔ เมืองนี้อยู่ในเขต อ.ปง จ.พะเยา) หนองขวาง (ปัจจุบันคือ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย) แช่ห่ม (ปัจจุบันคือ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง) เมืองวัง (ปัจจุบันคือ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง)

จะเห็นได้ว่าหัวเมืองนอกของเมืองภูกามยาวก่อนขุนจอมธรรมเข้ามาฟื้นฟูบ้านเมืองนั้นมีขอบเขตครอบคลุมแอ่ง อ.เทิง แอ่ง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย แอ่ง อ.ปง จ.พะเยา แอ่ง อ.วังเหนือ - อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง และเมืองคอบในเขต สปป.ลาว และเมื่อขุนจอมธรรมครองเมืองภูกามยาว ได้ขยายเขตแดนของเมืองภูกามยาวเพิ่มเติมจากแนวเขตเดิม “แต่เช่นท้าวตนนี้ปราบไปหนหอรดีมีดอยราผาก้อนเส้าเป็นแดน หินทักขิณมีประตูผาเป็นแดน หนอาคะไนมีดอยน้ำนะเป็นแดน หนบุพพมีดอยอู่ฟ้าเป็นแดน หนอิสานมีดอยยาวเป็นแดน หนอุตระมีน้ำทรี (แม่น้ำกก) เป็นแดน หนปัสสิมมีดอยรังกาเป็นแดนแล…” (เรื่องเดิม, 29-30)