ผู้เข้าชม
0
20 มกราคม 2568

พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ก่อนพญามังรายจะผนวกเมืองหริภุญไชยและสถาปนาเมืองเชียงใหม่ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นที่ตั้งของ ๓ อาณาจักรใหญ่คือ “หริภุญไชย” ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองลำพูน ในลุ่มแม่น้ำปิง-กวง “หิรัญนครเงินยาง” ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองเชียงแสนในลุ่มแม่น้ำกก และ “ภูกามยาว” ในลุ่มแม่น้ำอิงซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองพะเยา

เอกสารประวัติศาสตร์กล่าวถึงการก่อตัวของเมืองหิรัญนครเงินยางว่า เกิดขึ้นเมื่อลวะจังกราชโอปาติกะจากดอยตุงมาสถาปนาเมืองหิรัญนครเงินยางขึ้นในแว่นแคว้นไชยวรนครเชียงลาวในลุ่มแม่น้ำกกขึ้นในจุลศักราชที่ ๑ (พ.ศ. ๑๑๘๑) (ประชากิจกรจักร, 2516: 224) และอีกราว ๒ ทศวรรษต่อมา พระนางจามเทวี ธิดาพระเจ้ากรุงละโว้จากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้เสด็จขึ้นมาครองเมืองหริภุญไชยในลุ่มแม่น้ำปิง (โพธิรังสี, 2463: 99) แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทั้ง ๒ แคว้น ซึ่งมีอาณาเขตใกล้ชิดกันและตั้งเป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่ในช่วงเวลาไม่ห่างกัน แต่กลับไม่มีเอกสารประวัติศาสตร์ใด ๆ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างกัน

จนกระทั่งเวลาผ่านไปร่วม ๖๐๐ ปี พญามังรายผู้สืบเชื้อสายลวจังกราชจากลุ่มแม่น้ำกก จึงทราบเรื่องความมั่งคั่งของเมืองหริภุญไชยจากพ่อค้าที่ไปค้าขายที่เมืองฝาง จึงร่วมกับ “อ้ายฟ้า” ขุนนางชาวลัวะมาวางกุศโลบายกับพญายีบาจนสามารถผนวกเมืองหริภุญไชยได้ในที่สุด

ส่วนภูกามยาวหรือพะเยานั้น ในปัจจุบันพบเอกสารที่กล่าวถึงเมืองนี้ ๔ ฉบับคือ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๑ ซึ่งพิมพ์รวมอยู่ในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ที่นายสุด ศรีสมวงศ์ แปลไว้ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ (กรมศิลปากร, 2515) ตำนานเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติซึ่ง ในพ.ศ. ๒๕๒๖ อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ได้ปริวรรตและพิมพ์เผยแพร่โดยศูนย์วัฒนธรรม จ.เชียงใหม่และวิทยาลัยครูเชียงใหม่ในชื่อ “ตำนานเมืองพะเยาและค่าวซอคำเล่นเป็นแท้” และ “ตำนานพื้นเมืองพะเยา” ซึ่งเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี ได้จัดพิมพ์ขึ้นจากการปริวรรตไมโครฟิล์มตำนานเมืองพะเยา ต้นฉบับของวัดศรีโคมคำจำนวน ๒ ฉบับ คือ ฉบับ ๖๒ หน้าลานและตรวจสอบกับฉบับ ๔๔ หน้าลาน โดยได้มีการนำตำนานเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติที่อรุณรัตน์ วิเชียรเขียวปริวรรตมาพิมพ์แนบไว้ในส่วนท้ายด้วย (เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี, 2557) 

ดังนั้นในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของภูกามยาวและหริภุญไชยในบทความนี้ จึงใช้คำว่า “ตำนานเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติ” แทนตำนานเมืองพะเยาที่อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ปริวรรต และใช้คำว่า “ตำนานเมืองพะเยาฉบับ ๖๒ หน้าลาน” แทน “ตำนานพื้นเมืองพะเยา” ที่เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี ปริวรรต

นอกจากนั้นเรื่องราวของภูกามยาวนี้ยังปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนกปริเฉทที่ ๑๑ ว่าด้วยลวะจังกราชสร้างเมืองเชียงลาว ทั้งนี้เอกสารทั้ง ๔ ฉบับ กล่าวถึงช่วงเวลาและเหตุการณ์ต่าง ๆ แตกต่างกัน การวิเคราะห์ในครั้งนี้จึงใช้ข้อมูลจากเอกสารทุกฉบับที่กล่าวถึงสอบทานกันร่วมกับตำนานเมืองหริภุญไชย

เรื่องราวของเมืองพะเยา เริ่มต้นตั้งแต่การโอปาติกะของลวะจังกราชมาครองเมืองเงินยาง มีการขยายเชื้อวงศ์ไปปกครองเมืองต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มแม่น้ำกก มีเชื้อสายปกครองต่อมาจนถึงขุนเงิน ซึ่งให้ขุนจอมธรรมบุตรชายองค์รองนำไพร่พลข้ามแม่น้ำกกมาฟื้นฟูเมืองภูกามยาว ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองร้าง บริเวณปลายดอยด้วน ทั้งนี้เอกสารต่าง ๆ ระบุตรงกันว่าเมื่อขุนจอมธรรมเข้ามาถึงภูกามยาวนั้น ได้ทำการตรวจสอบขอบเขตบ้านเมืองตามพื้นเมือง ซึ่งเป็นบันทึกการปกครองบ้านเมืองที่ขุนนางเมืองภูกามยาวนำมาถวาย

ดังนั้น ความเป็นเมืองร้างของภูกามยาวที่ปรากฏในเอกสารต่าง ๆ จึงไม่ได้หมายความถึงบ้านเมืองที่ถูกทิ้งให้ปรักหักพังเป็นป่าดงรกร้าง แต่หมายถึงเมืองที่ไม่รุ่งเรืองเหมือนก่อนเพราะร้างกษัตริย์ แต่ยังมีขุนนางเสนาทำหน้าที่ดูแลบ้านเมือง

ช่วงเวลาการเข้ามาฟื้นฟูภูกามยาวของขุนจอมธรรม

ตำนานเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติระบุว่า “เมื่อศักราชได้ ๓๔๘ ตัว มีเมืองอัน ๑ ทิสสะหนทักขิณ สักกะวัลราชหะ ท้าวพญาจักเสวิยราชสมบัติได้ เท้ามีขุนแสนแต่งบ้าน ขุนกว๊านแต่งเมือง แล ๑ ที่เมืองนั้นเป็นโกละหนมากนัก ที่นั้นยังมีพานิโช คือว่าพ่อค้าผู้ ๑ ชื่อว่าชายะเสน ก็พาเอาลูกค้าทั้งหลายหนีไปสู่เมืองเงินยาง ที่นั้นก็เอาประวัติข่าวสานอันนั้น อันเมืองพูกาม (ยาว) ที่นั้นหาท้าวพญาก็บ่ได้ นานได้ ๓ ปีล่วงแล้วว่าอั้น คำอันนั้นก็ฤาชาปรากฏไปทั่วเมืองเงินยาง ที่นั้นคำอันนั้นก็รอดหูท้าวตนชื่อว่าขุนเงิน...”  (เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี, 2557: 87-88)

จากเอกสารดังกล่าวแสดงว่าเมืองภูกามยาวร้างกษัตริย์ในจุลศักราช ๓๔๘ (พ.ศ. ๑๕๒๙) ต่อมาบ้านเมืองเกิดความวุ่นวายจากการปกครองของเหล่าขุนนาง นายพาณิชชายะเสน จึงอพยพครอบครัวจากเมืองภูกามยาวไปอยู่เมืองเงินยางนานได้ ๓ ปี ข่าวจึงล่วงรู้ถึงขุนเงินเจ้าเมืองเงินยาง จึงให้ขุนจอมธรรมเข้ามาฟื้นฟูในจุลศักราช ๓๙๙ (พ.ศ. ๑๕๘๐) (เรื่องเดิม, 113) ส่วนเอกสารอื่นนั้นกล่าวว่า หลังขุนจอมธรรมครองภูกามยาวได้ ๓ ปี พระเทวีจึงประสูติขุนเจือง ซึ่งเอกสารต่าง ๆ ระบุช่วงเวลาที่ขุนเจืองประสูติไว้ต่างกัน