ผู้เข้าชม
0
20 มกราคม 2568

แต่พบว่ามีความคล้ายคลึงกับ “ฉัตรวลัย” ที่ปรากฏในสถาปัตยกรรมประเภทสถูปที่ปรากฏร่วมกับประติมากรรมพระพิมพ์แบบต่าง ๆ ในศิลปะทวารวดี เช่น พระพิมพ์ดินเผาที่พบที่เมืองโบราณศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี และเมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี รวมทั้งยอดสถูปดินเผาที่พบในเมืองโบราณบ้านคูเมืองอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ฯลฯ ซึ่งมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖

ในเชิงภูมิศาสตร์ อาณาจักรหริภุญไชยและภูกามยาวมีเขตแดนติดต่อกันกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร จึงเป็นได้ว่าก่อนการยึดครองหริภุญไชยของกษัตริย์จากเมืองภูกามยาวหรือ “ทุรฆะรัฐ” นั้น ชุมชนทั้ง ๒ มีการปฏิสัมพันธ์กันอยู่ก่อนแล้ว โดยปรากฏหลักฐานคือโบราณวัตถุสถานหลายช่วงอายุที่พบในพื้นที่ เส้นทางคมนาคมสำคัญที่ถูกใช้สืบต่อมาจนปัจจุบัน คือช่องทางประตูผา
 


เจดีย์องค์ในวัดพระธาตุลานเตี้ย ตำบลห้วยแก้ว อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา
มีส่วนองค์ระฆังคอดกิ่ว ปล้องไฉนแบบฉัตรวลัย แสดงอิทธิพลปาละ

โดยมีหลักฐานคือแหล่งภาพเขียนสีและแหล่งฝังศพประตูผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่เชื่อมโยงให้เห็นว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ สอดคล้องกับจารึกบนแผ่นไม้ไม่ต่ำกว่า ๕ แผ่น ที่มีข้อความระบุว่าบริเวณนี้เป็นด่านระหว่างเขตแดนของเมืองลำปางและเมืองพะเยามาตั้งแต่ต้นราชวงศ์มังราย และอีกเส้นทางคือเลียบแม่น้ำวังจากเมืองลำปางมายัง อ.แจ้ห่ม ซึ่งสอดคล้องกับตำนานพระแก่นจันทน์แดงที่มีเส้นทางเคลื่อนย้ายจากสุวรรณภูมิ มาเมืองตาก ผ่านลำปาง มาประดิษฐานที่แจ้ห่มและพะเยาก่อนที่จะถูกนำไปประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่แล้วหายสาบสูญไป 



พระพิมพ์ดินเผา ประทับนั่งวชิรประภา ศิลปะหริภุญไชย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘
พบจากวัดร้างแห่งหนึ่งในเขตบ้านห้วยแก้วหลวง ตำบลดงเจน อำเภอภูกามยาว
ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี)