ผู้เข้าชม
0
20 มกราคม 2568

ทั้งนี้นอกจากข้อมูลเอกสารที่เชื่อมโยงให้เห็นว่า ทุระฆะรัฐ คือภูกามยาวหรือเมืองพะเยาแล้ว ยังพบโบราณวัตถุสถานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหริภุญไชยและภูกามยาวจำนวนมาก เช่นพระพิมพ์ดินเผาแบบหริภุญไชยแบบต่าง ๆ อย่างไรก็ตามโบราณวัตถุกลุ่มนี้อาจถูกพกพาเข้ามาตามความเชื่อของผู้คนตามเส้นทางคมนาคมและการค้า แต่ที่สำคัญและเป็นหลักฐานเด่นชัดว่ามีผู้คนในวัฒนธรรมหริภุญไชยใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ จ.พะเยา คือ การได้พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาในกลุ่มหม้อบรรจุกระดูกในวัฒนธรรมหริภุญไชยอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ บริเวณกว๊านพะเยา 
 


จารึกอักษรธรรมล้านนา อิทธิพลอักษรมอญ ภาษาบาลี
พบที่เมืองโบราณเวียงห้าว อำเภอพาน 
จังหวัดเชียงราย
ที่มา: https://www.facebook.com/Lanna.SRIinCMU

รวมทั้งการพบจารึกอักษรมอญจำนวน ๓ ชิ้น คือ จารึกพระอภิธรรมสังคินีลานเงิน อายุราว พ.ศ. ๒๐๐๐ จากโบราณสถานแห่งหนึ่งในบริเวณทุ่งลอในอาณาบริเวณของเมืองโบราณเวียงลอ อ.จุน (กรมศิลปากร, 2503: 207) และศิลาจารึกปฏิจจสมุปบาท อักษรธรรมล้านนาที่มีร่องรอยว่าคลี่คลายมาจากอักษรมอญ ๒ ชิ้น ที่เวียงห้าวหรือเมืองแช่พรานบริเวณเชิงดอยด้วนฝั่งตะวันตกในเขตอ.พาน จ.เชียงราย และที่เมืองโบราณเวียงลอ อ.จุน จ.พะเยา 

และที่สำคัญคือเจดีย์องค์ในของวัดพระธาตุลานเตี้ย (ร้าง) ต.ห้วยแก้ว อ.ภูกามยาว บริเวณที่ลาดเชิงดอยด้วนฝั่งตะวันออก ซึ่งแสดงลักษณะสถาปัตยกรรมส่วนองค์ระฆังคอดกิ่วเช่นเดียวกับรัตนเจดีย์ วัดจามเทวี เมืองหริภุญไชย และเจดีย์สมัยทวารวดีอีกหลายองค์ในภาคกลาง แต่ลักษณะของปลียอดเป็นบัวคว่ำคั่นด้วยท้องไม้ที่ซ้อนเหลื่อมกันขึ้นไปนั้น ยังไม่พบในสถาปัตยกรรมของเจดีย์ที่ปรากฏในประเทศไทยปัจจุบัน 
 


จารึกอักษรธรรมล้านนา อิทธิพลอักษรมอญ ภาษาบาลี พบที่เมืองโบราณเวียงลอ
อำเภอจุน จังหวัดพะเยา 
เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ พบในอุโบสถวัดศรีปิงเมือง พ.ศ. ๒๕๔๕