ผู้เข้าชม
0
20 มกราคม 2568

ส่วนการเรียกพระนามกษัตริย์ผู้นี้ว่า พระเจ้าจักรพรรดิ หรือ พระเจ้าจักรวรรดิราชนั้น เมื่อพิจารณาร่วมกับตำแหน่งหัวเมืองนอกของภูกามยาวที่สืบค้นได้ แสดงให้เห็นว่าขอบเขตของอาณาจักรภูกามยาวก่อนรัชสมัยของขุนจอมธรรมนั้น มีความกว้างใหญ่ไม่น้อยกว่าหริภุญไชยและหิรัญนครเงินยาง จึงเป็นไปได้ที่ตำนานเมืองหริภุญไชยจะถวายพระนามกษัตริย์ผู้ครองเมืองภูกามยาวนี้ว่า “พระเจ้าจักรพรรดิ” สอดคล้องกับการพบร่องรอยความเชื่อมโยงของคำบาลี “ฑีฆรัฏฐะ” ว่าคือคำขยายนามของเมืองพะเยาที่พบจากพับสาที่เขียนขึ้นในยุครัตนโกสินทร์หลายฉบับ เช่นพับสาของวัดศรีโคมคำ เรื่อง “ขอฝนจิมพระเจ้าห้าตน” ของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา
 


พระพิมพ์ดินเผาในกลุ่มพระตรีกาย ศิลปะหริภุญไชย
อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พบบริเวณเวียงอ้อย อำเภอแม่ใจ
ปัจจุบันจัดแสดงในหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ 

 

หน้าพับสาที่ ๔๓ เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “พับของธ่านเจ้าครูบา ชื่อ สีวิราศ วชิรปัญา เวียงภยาว ทีฆรัฏฐ หัวเมืองภเยาไจ” และหน้าพับสาที่ ๖๓ เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “รอดจุฬสกฺกราชได้ย ๑๒๕๖ ตัว ปลีกาบสง้า ข้าภเจ้าภยาเทพฺพอุณดร เมิงทีฆรัฏฐภยาว ไดยร่ายกดหมายอันนี้ไว้ย” รวมทั้งพับสาเรื่อง โอกาส/ปริวาร ฯลฯ หน้าพับที่ ๗ (หัวข้อเกณฑ์เมืองนามเมือง) มีการใช้คำระบุนามเมืองพยาวว่า “เมืองทีฆรัฏฐพรยาว” รวมทั้งยังพบคำว่า “ทีฆรัฏฐพรยาว” จากใบลานที่พบในวัดปงสนุกเหนือ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นเคยเป็นศูนย์กลางของชาวพะเยาที่อพยพหนีศึกพม่าไปอยู่เมืองลำปางใน พ.ศ. ๒๓๓๐ (ชาญคณิต อาวรณ์, อภิรดี เตชะศิริวรรณ, 27 ธันวาคม 2567)
 


พระพิมพ์ดินเผาในกลุ่มพระคงศิลปะหริภุญไชย
อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พบในเขตพื้นที่จังหวัดพะเยา
ปัจจุบันจัดแสดงในหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ