ผู้เข้าชม
0
20 มกราคม 2568

เมื่อพิจารณาลักษณะการแปลศัพท์ภาษาบาลีเป็นภาษาไทยในชินกาลมาลีปกรณ์ พบว่ามีทั้งการแปลตามความหมายเช่น “ลุททบรรพต” แปลว่า ภูเขาซึ่งเป็นที่อยู่ของคนหยาบช้าหรือคนร้ายกาจ หมายถึงพรานล่าสัตว์ จึงแปลเป็นภาษาไทยว่า “ดอยพราน” แปลตามชื่อเช่น พิงฺคนที แปลว่าแม่น้ำปิง และแปลตามลักษณะที่โดดเด่นเช่น “หลิททวัลลินคร” หรือเมืองศรีสัชนาลัยของอนุสิสฤาษีว่า “เมืองขมิ้นเครือ”

ดังนั้น จึงเป็นได้ว่า “ทุระฆะรัฐะ” ที่พระยาประชากิจกรจักรแปลว่า “เมืองยาว” นั้น มีหลักการแปลเช่นเดียวกับชินกาลมาลีปกรณ์ คือเป็นการแยกศัพท์ภาษาบาลี ๒ คำคือ ทุระฆะ+รัฐะ โดยแปลตามศัพท์ภาษาบาลีของ “ทุระฆะ” ว่า “ยาว,ไกล” และ “รัฐ” ว่า “เมือง” 

“ทุระฆะ” เป็นรากศัพท์ของคำว่า “ทีฆะ” แปลตามศัพท์ภาษาบาลีว่า “ยาว นาน” ซึ่งจัดอยู่ในประเภท “คำวิเศษณ์” ทั้งนี้หลักภาษาไทยได้จำแนกการใช้คำวิเศษณ์ออกเป็น ๑๐ ประเภท ซึ่งเมื่อพิจารณาจากคำขยายความในเชิงอรรถของพระยาประชากิจกรจักร ที่ระบุว่า “เชียงรุ้ง แปลว่า ยาว ไกล” ท่านคงแปล คำว่า “ทุระฆะ” ให้อยู่ในบริบทของคำวิเศษณ์ประเภท “สถานวิเศษณ์”  ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์บอกสถานที่ เช่น ใกล้ ไกล บน ล่าง เหนือ ใต้ ฯลฯ จึงแปลความหมายของคำ “ทุระฆะรัฐ” ว่าเมืองยาว และสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองเชียงรุ้ง “เพราะเชียงรุ้งแปลว่ายาวไกล”

แต่หากแปลคำว่า “ยาว” ในบริบทคำวิเศษณ์ประเภท “ลักษณวิเศษณ์” ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ที่ใช้บอกลักษณะต่าง ๆ เช่น สี ขนาด สัณฐาน ฯลฯ แล้ว คำว่า “ทุระฆะรัฐ” จะหมายถึงเมืองที่มีผังเมืองรูปทรงยาวหรือตั้งอยู่ในชัยภูมิที่มีสัณฐานยาวเป็นลักษณะโดดเด่นก็ได้

ชื่อเมือง “ภูกามยาว” มาจากการสมาสของคำ ๓ คำ คือ ภู+กาม+ยาว พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม) เคยรวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับที่มาของชื่อนี้ไว้ว่า “ภู” หมายถึงภูเขา ส่วนคำว่า“กาม” เพี้ยนมาจาก “คาม” หมายถึงบ้านหรือหมู่บ้าน ส่วนคำว่า “ยาว” เป็นสถานวิเศษณ์ขยายนาม ๒ คำข้างต้น เมื่อรวมกันแล้วจึงมีความหมายว่า บ้านที่เรียงรายไปกับภูเขายาว (2552: 10)

ต่อมาได้เปลี่ยนจากชื่อภูกามยาวเป็น “พยาว” ในช่วงเวลาใดไม่ปรากฏ แต่ชื่อ “พยาว” นั้น เริ่มพบเป็นหลักฐานที่กำหนดช่วงอายุได้ ในจารึกกษัตริย์ราชวงศ์มังราย (ลพ.๙ พ.ศ. ๑๙๕๔) นอกจากนั้นยังพบในกลุ่มเงินเจียงของเมืองพะเยาซึ่งมีการประทับอักษรฝักขามเป็นชื่อเมือง “พยาว” “พย” และ “ยาว” ด้วย             

 

ดังนั้น หาก “ทุระฆะรัฐ” ถูกใช้ในบริบทของคำ “ลักษณะวิเศษณ์” ดังสันนิษฐานแล้ว เมืองนี้น่าจะหมายความถึงเมืองภูกามยาว ซึ่งตั้งอยู่ปลายดอยด้วนหรือดอยชมภู ซึ่งตั้งอยู่กลางอาณาจักรภูกามยาว เป็นภูเขาขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ อ.แม่ใจ ภูกามยาว อ.เมือง จ.พะเยา อ.ป่าแดด และอ.พาน จ.เชียงราย สัณฐานของเขาลูกนี้มีลักษณะเด่นคือ หัวดอยค่อนข้างลาดชัน ทำให้ดูคล้ายถูกตัดให้ตรงซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อ “ดอยด้วน” และยอดดอยวางตัวในแนวระนาบทำให้มีลักษณะโดดเด่นแตกต่างจากภูเขาอื่น ๆ ในภาคเหนือ

จึงเป็นจุดสังเกตของนักเดินทางที่ถูกกล่าวถึงในเอกสารประวัติศาสตร์หลายครั้ง เช่น ในครั้งพระเจ้าไชยศิริอพยพหนีทัพเมืองสุธรรมวดี “ก็พากันหนีไปทางตะวันออก ล่องใต้ไปทางเมืองผาหมื่นผาแสน แล้วล่องไปทางตะวันออกเข้า (เขา) ชมพูคือว่าดอยด้วนนั้น อยู่บ่ได้ กลัวข้าศึกจะติดตามทันก็พากันหนีไปทางตะวันออกได้เดือนหนึ่ง ก็ไปถึงที่พระยาพรหมราชตนพ่อแห่งท่านไล่ขอมไปถึงที่นั้น...”

และเป็นได้ว่าเส้นทางอพยพของพระเจ้าไชยสิริจะเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางขับไล่ขอมของพระเจ้าพรหมผู้เป็นบิดาที่ตำนานฉบับเดียวกันกล่าวว่า “ส่วนพรหมกุมารท่านก็ขี่ช้างพานคำตัวกล้าพาเอาคนหาญไล่ติดตามกำจัดพระยาขอมดำและบริวารทั้งหลาย ลำดับผ่านบ้านมิลักขุทั้งหลายไปไกลยิ่งนัก...พ้นจากเขตแดนพ่อของตนไปได้เดือนหนึ่งถึงแดนเมืองลวะรัฐ...” (มานิต วัลลิโภดม, 2516: 82-92)

นอกจากนั้นในครั้งขุนจอมธรรมยกพลจากเมืองเงินยางมายังภูกามยาวยังใช้เส้นทางผ่านบ้านเชียงเคี่ยนเลียบหัวดอยด้วน – ทุ่งลอ มาตั้งมั่นที่บ้านกว๊าน (ปัจจุบันอยู่ในเขต ต.ดงเจน อ.ภูกามยาว) ก่อนเข้าฟื้นฟูเมืองภูกามยาว รวมทั้งอยู่ในเส้นทางทัพของขุนเจืองไปยังเมืองเงินยางโดยมีการตั้งบ้านแห่งหนึ่งซึ่งเป็นเมืองแช่พรานในเวลาต่อมา (เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี, 2545: 90-113)

จากการวิเคราะห์ภูมินาม รวมทั้งความสอดคล้องของเวลาที่ปรากฏในตำนานเมืองหริภุญไชยและตำนานเมืองพะเยาฉบับหอสมุดแห่งชาติเป็นไปได้ว่า “ทุรฆะรัฐ” คือภูกามยาว และเป็นไปได้ว่าหลังจากพระเจ้าจักรวรรดิราชไปครองเมืองหริภุญไชยในพ.ศ. ๑๔๙๖ ได้มอบหมายให้เชื้อวงศ์ปกครองเมืองภูกามยาว ด้วยช่วงเวลาและเหตุการณ์ที่สอดคล้อง จึงเป็นไปได้ว่าต่อมาเชื้อวงศ์ที่ครองเมืองภูกามยาวได้สวรรคตไปโดยไม่มีรัชทายาทสืบต่อราชวงศ์ จึงเกิดการเคลื่อนย้ายของขุนจอมธรรมจากเมืองเงินยางมาตั้งมั่นฟื้นฟูเมืองภูกามยาว และขยายอาณาเขตด้านทิศใต้ไปจนจรดประตูผาได้สำเร็จ โดยปราศจากการต่อต้านจากทัพเมืองเขลางค์และหริภุญไชย