ผู้เข้าชม
0
2 มกราคม 2568

(๔.) กำแพงแก้ว กลุ่มปราสาทประธานและบรรณาลัยล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมกับซุ้มประตูทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก กำแพงแก้วยังคงสภาพเดิม ส่วนฐานและตัวกำแพงก่อด้วยอิฐ ที่กลางแนวกำแพงแก้วด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ ก่อเป็นห้องมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลาย ห้องกำแพงด้านทิศเหนือใช้เป็นทางเข้าสู่ปราสาท

(๕.) บาราย ห่างจากปราสาทออกไปทางด้านทิศตะวันออกจะมีสระน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่าหนองสา ซึ่งสันนิษฐานว่า คือบารายประจำโบราณสถานกู่พระโกนา สภาพปัจจุบันกลายเป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับผลิตน้ำปะปาของชุมชนบ้านหนองหว้า จากตำแหน่งของผังโบราณสถานกู่พระโกณาที่ทางเดินจากประตูด้านหน้าทอดยาวมาสู่ตัวหนองน้ำโดยตรง อันแสดงถึงความสัมพันธ์ในการกำหนดผังการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกัน

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ตั้งข้อสังเกตถึงกู่พระโกนา จังหวัดร้อยเอ็ด ว่ามีการเก็บน้ำโดยก่อบารายยกขึ้นเหนือจากผิวดินขนาดสูงท่วมหัว โดยนำน้ำที่เทจากที่สูงในช่วงน้ำหลากนำมาเก็บไว้ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับบารายของพระนครวัด และชุมชนนี้ยังพบคันดินมากมายเลยไปถึงกู่กาสิงห์ คันดินนี้ชะลอน้ำไว้ใช้ ทั้งยังพบทำนบเก่าๆ เลยขึ้นไปเป็นลำน้ำเสียว บริเวณดังกล่าวเคยเป็นแหล่งผลิตเกลือขนาดใหญ่ และมีการส่งสินค้าไปยังเขมรต่ำด้วย

วัฒนธรรมทุ่งกุลากับนาทาม เป็นประเด็นที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ไปร่วมสัมมนากับโครงการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำชีของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยได้สรุปวิเคราะห์องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับทุ่งกุลาร้องไห้ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในลุ่มน้ำชีเป็น ๒ อย่าง

อย่างแรกทำให้สามารถวิเคราะห์การตั้งถิ่นฐานของผู้คนแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในแอ่งโคราชออกเป็น ๓ บริเวณคือ บริเวณตอนเหนือ อันเป็นที่ลาดและที่ราบขั้นบันไดของลำน้ำชี ที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และยโสธร

บริเวณตอนกลาง ที่เป็นที่ราบต่ำน้ำท่วมถึง ที่อยู่บริเวณริมฝั่งเหนือของลำน้ำมูลจนถึงบริเวณฝั่งใต้ของลำน้ำชี ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ยโสธร และอุบลราชธานี และบริเวณตอนใต้ อันเป็นที่ลาดแต่เทือกเขาพนมดงเร็กลงมาจนถึงที่ราบขั้นบันไดต่ำทางฝั่งใต้ของลำน้ำมูล ในเขตจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ จนถึงอุบลราชธานี

 

ทั้งสามบริเวณนี้ แม้ว่าจะมีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เหมือนกัน แต่ก็มีพัฒนาการทางอารยธรรมต่างกัน จากหลักฐานทางโบราณคดี บริเวณตอนเหนือมีความเคลื่อนไหว และพัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับจีนใต้ เวียดนาม และอินเดียมากกว่าเพื่อน

รองลงมาคือบริเวณตอนใต้ของแม่น้ำมูลจนถึงเทือกเขาพนมดงเร็กที่มีพัฒนาการเกี่ยวข้องกับอารยธรรมทวารวดีและขอมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และกัมพูชาตั้งแต่สมัยทวารวดี-ลพบุรีลงมา เพียงแต่เมืองพิมาย ในเขตทุ่งสำริดเท่านั้น ในขณะที่เขตทุ่งกุลาร้องไห้และบริเวณทุ่งราศีไศลอยู่ในสภาพล้าหลังเรื่อยมา....’
 


บาราย ห่างจากปราสาทออกไปทางด้านทิศตะวันออกจะมีสระน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่าหนองสา
ที่มา: Facebook กู่พระโกนา