ผู้เข้าชม
0
2 มกราคม 2568

ปราสาทหลังนี้มีประตูทางเข้าด้านเดียวคือด้านทิศตะวันออก ส่วนอีกทั้งสามด้านทำเป็นประตูหลอก ด้านทิศตันออกของตัวปราสาทปรากฏส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ที่สุดกว่าบริเวณอื่น คือมีเสาประดับกรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลังสลักเป็นรูปหน้ากาลจับขาสิงห์สองตัวคายท่อนพวงมาลัย แต่ส่วนที่เป็นหน้ากาลได้ชำรุดและหักหายไป

เหนือแผ่นทับหลังขึ้นไปเป็นแผ่นหินสลักประดับเหนือทับหลัง เป็นรูปวิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ หรือนารายณ์บรรทมสินธุ์ทรงประทับเหนือพระยาอนันตนาคราชสามเศียรแบบเศียรโล้นแผ่พังพาน องค์พระนารายณ์มีสองพระหัตถ์ พระหัตถ์ซ้ายถือปัทมะ (ดอกบัว) พระหัตถ์ขวาประคองพระเศียรไว้ ที่พระนาภีมีร่องรอยของการสลักเป็นรูปดอกบัวผุดออกมา แต่ชำรุดหักหายไป ซึ่งถ้ามีการพบแบบสมบูรณ์คงปรากฏเป็นรูปพระพรหมประทับอยู่บนดอกบัวที่ผุดออกมาจากพระนาภี เบื้องปลายพระบาทปรากฏรูปสตรีคือพระลักษมีชายาของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ นั่งอยู่ในท่าปรนนิบัติ ที่มุมด้านซ้ายและด้านขวาของนารายณ์บรรทมสินธุ์แกะสลักเป็นรูปหงส์ด้านละ ๒ ตัว 
 


แผ่นทับหลัง สลักเป็นภาพขบวนมีบุคคลนั่งบนสัตว์พาหนะรูปโค
ด้านหน้าและด้านหลังมีบุคคลถือเครื่องสูง

ถัดขึ้นไปจากนารายณ์บรรทมสินธุ์เป็นลวดลายของส่วนหน้าบัน แกะสลักเป็นเรื่องราวในรามายณะตอนพญาสุครีพกำลังต่อสู้กับพญาพาลี 

ประตูทางด้านทิศเหนือของปราสาท ปรากฏร่องรอยของการขึ้นแผ่นทับหลังวางเหนือกรอบประตูหลอกไว้ โดยยังคงทำเป็นโกลนไว้บางส่วนแต่ยังแกะสลักไม่เสร็จ ประตูหลอกทางด้านทิศตะวันตกของปราสาทพบแผ่นทับหลังหนึ่งแผ่นตกอยู่ใกล้กับตัวปราสาท สลักเป็นรูปพระวิษณุทรงครุฑยุดนาค ตัวครุฑไม่มีแขนแต่แกะเป็นปีกแทน พระวิษณุมี ๒ กร ทรงถืออาวุธคล้ายตรีศูล ส่วนประตูหลอกทางด้านทิศใต้เหลือเพียงประตูหลอก

+ ปราสาทด้านทิศใต้ เป็นปราสาทที่ยังคงสภาพดั้งเดิมมากที่สุด ฐานล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ตัวเรือนปราสาทยังเรือนยอดก่อด้วยอิฐ แต่อยู่ในสภาพพังทลายลงมาบ้างแล้ว มีประตูทางเข้าด้านเดียวคือด้านทิศตะวันออก อีกทั้งสามด้านทำเป็นประตูหลอก ด้านทิศเหนือของปราสาท เหนือประตูหลอกมีทับหลังประดับสลักเป็นภาพบุคคลนั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้ว เหนือหน้ากาลพระเศียรของบุคคลในซุ้มเรือนแก้วได้ชำรุดหักหายไป ตัวหน้ากาลที่คายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองข้าง ปัจจุบันด้านหน้าประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกของปราสาทองค์นี้ได้มีการก่ออาคารคอนกรีตไว้ด้านหน้าเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่ออดีตเจ้าอาวาสวัด

(๒.) บรรณาลัย อาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลงมีประตูทางเข้าด้านเดียวคือด้านทิศตะวันตก เป็นสิ่งก่อสร้างที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน สภาพปัจจุบันของบรรณาลัยได้พังทลายลงมาบางส่วน เหลือผนังที่สมบูรณ์ทางด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ ด้านหน้าของกรอบประตูทางเข้ามีแผ่นทับหลังตกอยู่หนึ่งแผ่น แกะสลักเป็นภาพขบวนมีบุคคลนั่งบนสัตว์พาหนะรูปโค ด้านหน้าและด้านหลังมีบุคคลถือเครื่องสูง จากเรื่องราวดังกล่าวสันนิษฐานว่าเป็นภาพแกะสลักตอนอุมามเหศวร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พระศิวะประคองพระอุมาประทับนั่งบนโคนนทิ

(๓.) ซุ้มประตู (โคปุระ) มีประตูทางเข้าสองทาง คือด้านทิศตะวันออกและด้านทิศตะวันตกเชื่อมกำแพงแก้ว โดยช่องทางเข้าได้เจาะช่องกึ่งกลางของผนังกำแพงด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกกำหนดเป็นทางเข้าสู่ตัวปราสาท ด้านบนของประตูมีทับหลังเป็นรูปเทพอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว มีบุคคลยกสตรีถวายสันนิษฐานว่าเป็นตอนท้าวหิมวัติถวายพระนางปารวตีหรือพระศิวะแก่พระศิวะ ด้านล่างเทพมีตัวหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองข้างและใช้มือจับท่อนพวงมาลัยนั้นไว้พร้อมแลบลิ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม