ผู้เข้าชม
0
2 มกราคม 2568

จากการสำรวจพบแหล่งจำนวน ๑๘ แห่ง โดยสามารถจัดแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม จากการพิจารณาตรวจสอบจากตำแหน่งที่ตั้งและความสำคัญของหลักฐานที่พบ คือ ๑. กลุ่มที่มีอายุร่วมสมัยหรืออาจร่วมสมัยกับโบราณสถานกู่พระโกนา ๔ แห่ง คือ หนองสา / บ่อน้ำดื่มที่หนองแล้ง บ้านหนองหว้า / ท่าแจ้ง และถนนโบราณที่เชื่อมระหว่างโบราณสถานกู่พระโกนากับลำน้ำกุดยาง 

๒. กลุ่มที่ถูกสร้างขึ้นสมัยชุมชนวัฒนธรรมลาว ๓ แห่ง คือ  หลักบือบ้านหมู่บ้านกู่ / หลักบือบ้าน หมู่บ้านหนองหว้า / ที่ประดิษฐานนางนอนดาย 

๓. กลุ่มที่ยังคลุมเครือ ยังไม่สามารถจัดลำดับอายุสมัยได้ ๑๑ แห่ง คือ บ่อน้ำดื่มประจำหมู่บ้านกู่ / หนองไฮ / สวนยายกอง / พื้นที่เคยขุดพบโครงกระดูกมนุษย์สวนตาฤทธิ์ / พื้นที่เคยขุดพบภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกบ้านคุณครูพรทิพย์ / หนองน้อย / หนองหว้า / บ่อน้ำดื่มโบราณประจำหมู่บ้านหนองหว้า / กอนกลาง / โนนหัวคน และโพนกุลา

รายละเอียดของโบราณสถานปราสาทกู่พระโกนา ประกอบไปด้วยกลุ่มสิ่งปลูกสร้าง ๕ ส่วนด้วยกัน

(๑.) กลุ่มปรางค์ประธาน ประกอบด้วยปราสาท ๓ หลังตั้งบนฐานไพทีเดียวกันมีทางเข้าด้านเดียวคือด้านทิศตะวันออก ปราสาททั้งหมดตั้งเรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้

+ ปราสาทองค์กลาง ปรากฏร่องรอยของส่วนก่อสร้างเดิม มีเพียงส่วนฐานเท่านั้น ส่วนตัวเรือนธาตุปราสาทตลอดจนถึงเรือนยอด ได้ถูกดัดแปลงเพิ่มเติมในยุคหลัง เปลี่ยนจากสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ กลายเป็นสถูปที่คนท้องถิ่นเรียกว่า ธาตุ ตามแบบวัฒนธรรมลาวล้านช้าง ซึ่งก่อขึ้นเป็นชั้นๆ และตกแต่งด้วยซุ้มพระพุทธรูปประจำทิศ ปราสาทแห่งนี้ได้ถูกดัดแปลงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ 

นอกจากนี้ด้านหน้าของปราสาทยังมีการก่ออาคารคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยมมุงหลังคาเชื่อมต่อกับด้านหน้าของปราสาททำเป็นวิหารประดิษฐานรอยพระพุทธบาทและรูปเคารพทางพระพุทธศาสนา ด้านหน้าของวิหารมีเศียรพญานาคประดับข้างบันไดทางขึ้นข้างละเศียร โดยเศียรด้านขวามือทางขึ้น เป็นของโบราณซึ่งแต่เดิมประดับอยู่หน้าประตูทางเข้าทางทิศตะวันออกด้านนอกกำแพง อยู่ตำแหน่งขวามือของทางเดินเข้า แต่เจ้าอาวาสวัดให้ขุดและสกัดตัดเอาส่วนเศียรมาประดับไว้ด้านข้างของบันไดทางขึ้นวิหาร ส่วนเศียรด้านซ้ายเป็นของที่ทำขึ้นใหม่ให้คู่กันแต่มีขนาดใหญ่กว่า แกะสลักโดยนายช่างท้องถิ่น ชื่อ นายวิเชียร อิ่มน้ำคำ

 

+ ปราสาทด้านทิศเหนือ ส่วนฐานถูกเทพื้นคอนกรีตทับ เหลือส่วนที่สมบูรณ์คือตัวเรือนปราสาทเท่านั้น ส่วนเรือนยอดได้พังทลายลงมา ตัวของปราสาทองค์นี้ มีการสร้างอาคารมุงหลังคาครอบทับ ซึ่งทำโดยราษฎรในท้องที่ เพื่อใช้เป็นกุฏิที่จำวัดของเจ้าอาวาสวัดกู่พระโกณา แต่ปัจจุบันผนังของตัวอาคารได้ทุบออกไปและเลิกใช้เป็นกุฏิแล้ว เหลือเพียงตัวหลังคาที่มุงครอบปราสาทอยู่ 
 


ปราสาทองค์กลาง ตัวเรือนธาตุปราสาทตลอด
จนถึงเรือนยอดได้ถูกดัดแปลงเพิ่มเติมในยุคหลัง