ผู้เข้าชม
0
2 มกราคม 2568

กู่พระโกนา หรือกู่สี่แจ่ง หรือกู่คำกูนา โบราณสถานแห่งนี้เป็นปราสาทแบบเขมรโบราณ แต่ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ถูกดัดแปลงให้เป็นวัดทางพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท สังกัดมหานิกาย ชื่อ วัดกู่พระโกนา ที่นี่เป็นโบราณสถานที่มีการพบทับหลังซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะเขมรสมัยบาปวน ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ โดยบริเวณปราสาทด้านทิศเหนือ พบทับหลังภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ พระนารายณ์ทรงครุฑ รามเกียรติ์ และรูปบุคคลเหนือหน้ากาล ส่วนบริเวณปราสาทด้านทิศใต้ พบทับหลังเป็นภาพบุคคลประทับนั่งบนหลังโค และบุคคลประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล 

พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ณ ปราสาทกู่พระโกนานี้ นับเป็นทับหลังและภาพสลักที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในสยามเทศะ อีกทั้งพบเพียงแห่งเดียวในจังหวัดร้อยเอ็ด มีความสมบูรณ์งดงามด้วยรูปแบบศิลปะ และยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมเมื่อครั้งแรกสร้าง มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างยิ่ง 

ทั้งนี้กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานกู่พระโกนาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ ๒ งาน ๑๖ ตารางวา

ปราสาทกู่พระโกนา ตั้งอยู่ที่บ้านกู่ วัดกู่พระโกนา หมู่ ๒ ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ภายในวัดกู่พระโกนา ประกอบด้วยปรางค์อิฐ ๓ องค์ บนฐานศิลาทราย เรียงจากเหนือ-ใต้ ทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงล้อมและซุ้มประตูเข้า-ออกทั้ง ๔ ด้าน ก่อด้วยหินทรายเช่นกัน 

ประวัติการศึกษาทางโบราณคดีของโบราณสถานกู่พระโกนาเท่าที่ผ่านมา พบว่ากู่พระโกนาแห่งนี้ นายลูเนต์ เดอ ลาจองกีแยร์ (E, Lunet de Lajonquiere) ได้กล่าวถึงในหนังสือเรื่อง บัญชีรายชื่อโบราณสถานในประเทศกัมพูชา เล่ม ๒ (Inventaire descriptif des Monuments du Cambodge, Tome Deuxieme) ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เป็นโบราณสถานในเขตมณฑลอีสาน เมืองสุวรรณภูมิ โดยเรียกชื่อโบราณสถานแห่งนี้ว่า กู่สี่แจง (Ku Si Cheng) เป็นโบราณสถานลำดับที่ ๓๖๑ ในหนังสือเล่มนี้ โดยการศึกษาครั้งนั้น นายลูเนต์ เดอ ลาจองกีแยร์ (E. Lunet de Lajonquiere) ได้ทําการศึกษาผังของโบราณสถานแห่งนี้ พร้อมทั้งเขียนแผนผังโบราณสถานแห่งนี้เอาไว้

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ทรงนําอาจารย์และนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เดินทางไปสํารวจทางโบราณคดีภายในประเทศ ได้ทรงนําคณะร่วมเดินทางไปแวะเยี่ยมชม และสํารวจโบราณสถานกู่พระโกนา


กู่พระโกนา ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ถูกดัดแปลง
ห้เป็นวัดทางพระพุทธศาสนา