ผู้เข้าชม
0
2 มกราคม 2568

บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้แม้ว่าจะเป็นชายขอบทางวัฒนธรรมของบรรดารัฐ และบ้านเมืองที่อยู่โดยรอบ แต่ก็มีความเจริญเป็นบ้านเป็นเมืองร่วมสมัย ที่มีฐานความเจริญมาจากการผลิตเกลือและเหล็ก อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยยุคเหล็กลงมาจนถึงสมัยลพบุรี หลังจากนั้นแล้วบ้านเมืองก็ซบเซาลง น่าจะมีการเคลื่อนย้ายของผู้คนลงไปสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและบริเวณทะเลสาบเขมรในประเทศกัมพูชา 

ความเป็นบ้านเมืองที่มีชุมชนกระจายอยู่มากอย่างแต่ก่อนก็ลดน้อยลง เกิดบ้านเมืองร้างหลายแห่ง ในขณะที่หลายๆ แห่งก็มีการอยู่อาศัยอย่างสืบเนื่อง อันเนื่องจากมีคนกลุ่มใหม่เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน แต่ก็มักจะสร้างบ้านเรือนทับบนชุมชนเก่าๆ โดยอาศัยความเหมาะสมของถิ่นฐานที่อยู่ที่ทำกิน รวมทั้งแหล่งน้ำและการชลประทานที่เคยมีมาแต่เดิมเป็นพื้นฐาน
 


สภาพปัจจุบันของโบราณสถานกู่พระโกนา
ที่มา: Facebook กู่พระโกนา

ทุกวันนี้ ผู้คนที่อยู่ในทุ่งกุลาคือกลุ่มชนที่มีการผสมผสานของกลุ่มชาติพันธุ์กุย (หรือที่เรียกว่าพวกส่วย) เขมร และลาว ดูเหมือนพวกกุยหรือส่วยน่าจะเป็นพวกเดิมๆ ที่อาจเข้ามาตั้งถิ่นฐานช้านานกว่ากลุ่มอื่นๆ ก็ได้ เพราะเห็นได้จากเรื่องราวในตำนานที่เกี่ยวกับผู้นำทางวัฒนธรรม และประเพณีพิธีกรรมในระบบความเชื่อ ที่กลายเป็นของส่วนรวมในท้องถิ่น อย่างเช่นเชียงศรี ซึ่งเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมของคนส่วยนั้นก็ได้ถูกยกย่องเป็นเจ้าศรีนครเตา ที่พวกลาวเคารพกราบไหว้ และสร้างตำนานและประเพณีพิธีกรรมให้บรรดาลูกหลานได้กระทำในฤดูเทศกาล

ในบรรดาคนทุ่งกุลาในปัจจุบัน สิ่งที่ทำให้ดำรงชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนได้เสมอมา ก็คือการตั้งถิ่นฐานบนแหล่งชุมชนเดิม และพัฒนาการจัดการในเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือการสร้างทำนบน้ำเพื่อการแบ่งน้ำ กักน้ำในการเพาะปลูก ที่ล้วนต่อยอดมาจากระบบที่เคยมีมาแต่โบราณทั้งสิ้น….’

สำหรับสภาพปัจจุบันของโบราณสถานกู่พระโกนา ซึ่งประกอบด้วยปรางค์อิฐ ๓ องค์บนฐานศิลาทรายเรียงจากเหนือถึงใต้ ทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกําแพงล้อม และซุ้มประตูเข้า–ออก ทั้งปรางค์องค์กลางถูกดัดแปลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ โดยการฉาบปูนทับและก่อขึ้นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีซุ้มพระทั้ง ๔ ทิศ หน้าปรางค์องค์กลาง ชั้นล่างสร้างเป็นวิหารพระพุทธบาท ประดับเศียรนาค ๖ เศียรของเดิมไว้ด้านหน้า 

ส่วนปรางค์อีก ๒ องค์ได้รับการบูรณะจากทางวัด แต่ไม่ถึงกับเปลี่ยนรูปทรงอย่างปรางค์องค์กลาง ส่วนปรางค์องค์ทิศเหนือ ทางวัดสร้างศาลาครอบ ภายในมีหน้าบันสลักรามายณะและประทับสลัก ภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่ที่เดิมคือเหนือประตูทางด้านหน้า ส่วนทับหลังประตูด้านทิศตะวันตกหล่นอยู่บนพื้นเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ปรางค์องค์ทิศใต้ยังคงมีทับหลังของเดิมเหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือเป็นภาพเทวดานั่งชันเข่า ในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล นอกจากนี้ทางด้านหน้ายังมีทับหลังหล่นที่พื้นเป็นภาพพระอิศวรประทับนั่งบนหลังโคและมีเสานางเรียงวางอยู่ด้วย สันนิษฐานว่ากู่พระโกนาเดิมคงจะมีสะพานนาคและทางเดินประทับเสานางเรียงทอดต่อจากซุ้มประตูหน้าไปยังสระน้ำหรือบาราย ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๓๐๐ เมตร 

บทวิเคราะห์ตัวโบราณสถานกู่พระโกนา ผลจากการดัดแปลงต่อเติมของราษฎรกลุ่มใหม่ที่อพยพเข้ามาในพื้นที่ โดยเข้ามาใช้กู่พระโกนาเป็นที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นต้นมา