ชาวประมงไปพบธรรมจักรพร้อมเสาจมอยู่ในท้องน้ำที่คุ้งน้ำอันคดโค้งของแม่น้ำยม แล้วนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดท่าไม้ ตำบลท่าไม้ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ วัดนี้อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม อยู่เหนือปากน้ำเกยไชยที่แม่น้ำยมมาสบกับแม่น้ำน่านราว ๕ กิโลเมตร โดยประมาณ สอบถามจากผู้ศึกษาเรื่องวิวัฒนาการลวดลายแล้ว ให้อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑
การพบธรรมจักรในท้องน้ำของแม่น้ำยมนับเป็นเรื่องแปลก เพราะไม่พบว่ามีชุมชนสมัยทวารวดีอยู่ในเขตที่ลุ่มน้ำท่วมนี้ อาจสันนิษฐานได้หลายทาง เช่น มีการนำขึ้นเรือมาในเวลาร่วมสมัยกับการสร้างธรรมจักรนั้น หรืออาจนำมาภายหลังในฐานะที่เป็นโบราณวัตถุ
บริเวณนครสวรรค์ มีชุมชนสมัยทวารวดีอยู่หลายแห่ง แต่มักมีหลักแหล่งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขาหรือที่ราบลอนลูกคลื่นซึ่งเป็นที่ดอน เช่น ทางด้านทิศเหนือขึ้นไปแถวบ้านคลองเดื่อและทับคล้อ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นชุมชนสมัยทวารวดีที่ถูกทำลายไปเกือบหมดแล้ว

ที่ตั้งของวัดเกยไชยเหนือ ปากน้ำเกยไชย บริเวณที่แม่น้ำน่านและยมสบกัน
ทางตะวันออกคือ เมืองโบราณดอนคา บริเวณที่ราบลอนลูกคลื่นต่อเนื่องกับเขตเพชรบูรณ์ ในอำเภอท่าตะโก ทางด้านใต้มีเมืองบน ที่โคกไม้เดน ในอำเภอพยุหะคีรี และเมืองทัพชุมพล ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกที่ดงแม่นางเมืองใกล้แม่น้ำปิง อำเภอบรรพตพิสัย การขนส่งทางน้ำบริเวณนี้ก็อาจเป็นเรื่องที่ทำได้เพราะมีชุมชนสมัยทวารวดีรายรอบพื้นที่ลุ่มแห่งนี้ในรัศมีที่สามารถเดินทางถึงอยู่ทุกด้าน
โบราณวัตถุอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ ใบเสมาที่วัดเกยไชยเหนือ ปรากฏชื่อเกยไชยในแผนที่ยุทธศาสตร์ครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งอยู่ในระหว่างเส้นทางน้ำที่แยกออกจากนครสวรรค์ต่อเนื่องขึ้นไปถึงปากพิง เมืองพิจิตร และท่าฬ่อ ทำให้ทราบว่าเส้นทางน้ำแถบแควใหญ่หรือแม่น้ำน่านและแม่น้ำยม เป็นเส้นทางสำคัญที่จะขึ้นไปรับศึกทางหัวเมืองฝ่ายเหนือในสมัยอยุธยา
นอกจากนี้ เกยไชยยังมีชื่อในเรื่องที่มีจระเข้ดุร้ายตามเรื่องเล่าภายในท้องถิ่นและเป็นที่รับรู้กันทั่วไป คือเรื่องของไอ้ด่างเกยไชย เล่ากันว่า ที่เกยไชยมีวังตะกอนหรือปากแม่น้ำที่มีความลึกมาก มีจระเข้ชุกชุม เรียกกันว่าวังไอ้เข้ ชาวบ้านจะลงอาบน้ำแต่ละครั้งต้องเอาไม้ปักทำรั้วเพื่อป้องกันจระเข้ จระเข้ชื่อดังตัวหนึ่งคือไอ้ด่างเกยไชย ผู้เดินทางไปมาหรือพวกหาปลาจะถูกไอ้ด่างอาละวาดเป็นประจำ เล่าสืบทอดว่ามีคนขี้เมาคนหนึ่งใช้เรือท้องแหลม (ชาวจีนเรียกว่าเรือไหหลำ) บรรทุกข้าวมาท้าทาย ไอ้ด่างหนุนเรือข้าวจนเรือคว่ำ แต่คนขี้เมาใช้หอกแทงจนเป็นแผลตามตัวมากมาย ไอ้ด่างทนไม่ได้จึงเอาหัวมาเกยหาดหน้าวังตะกอนแล้วถูกยิงซ้ำจนตาย ชาวบ้านทำการผ่าท้องไอ้ด่าง พบของมีค่ามากมาย จึงเอาหัวไอ้ด่างไปไว้ที่ศาลเจ้าพ่อจุ๊ยที่ตั้งอยู่ตรงวังตะกอนบริเวณปากน้ำ ชาวเกยไชยนับถือกันมาก
วัดเกยไชยเหนือ ตั้งอยู่ที่ปากน้ำระหว่างแม่น้ำน่านและแม่น้ำยม มีเรื่องเล่าในท้องถิ่นว่าพระเจ้าเสือได้ยกขบวนประกอบด้วยช่างฝีมือจำนวนมากจะไปสร้างวัดโพธิ์ประทับช้าง โดยเสด็จทางชลมารค ขบวนเรือไม่สามารถไปได้ เพราะเรือเกยน้ำตื้นของแม่น้ำยม
ส่วนแม่น้ำน่านในสมัยนั้นก็เป็นเพียงลำคลองเล็ก ชาวบ้านเรียกว่า คลองเรียง จึงได้สั่งพักพลริมแม่น้ำฝั่งตะวันตกสถานที่ตั้งวัดในปัจจุบัน แล้วให้ไพร่พลสร้างพระเจดีย์และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ องค์พระเจดีย์ ประชาชนจึงเรียกพระเจดีย์นี้ว่า พระบรมธาตุ จึงเรียกชื่อวัดนี้ตามชื่อของเจดีย์ว่า วัดบรมธาตุ