หลักฐานที่แสดงให้เห็นก็คือบรรดาภาชนะดินเผาสีดำที่มีการขัดผิวและประดับด้วยลายเส้นเบาๆ ที่ไม่กินลงไปถึงพื้นผิวภาชนะ เป็นสิ่งที่ศาสตราจารย์วิลเฮล์ม จี. โซลไฮม์ (Prof. Wilhelm G. Solheim) จากมหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา พบเห็นจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีในที่ราบสูงโคราช โดยเฉพาะในชั้นดินชั้นล่างของปราสาทหินพิมาย โซลไฮม์ให้ชื่อภาชนะดินเผานี้ว่า พิมายดำ (Phimai Black Ware) มีอายุราว ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาลลงมา เป็นรูปแบบที่พบตามแหล่งโบราณคดีในประเทศอินเดีย ได้มีการพบเห็นภาชนะแบบพิมายดำนี้ในที่อื่นๆ เช่นที่ เมืองจันเสน ซับจำปา และศรีเทพ
จากอิทธิพลของการค้าระยะไกลทั้งทางบกและโพ้นทะเลทางฝั่งอ่าวไทยและทะเลจีน ทำให้มีพัฒนาการของเมืองท่าทางชายขอบที่สูงทางฟากตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาหลายเมืองตั้งแต่สมัยฟูนันลงมา เช่น เมืองอู่ตะเภาที่ตำบลหางน้ำสาคร เมืองจันเสน เมืองละโว้ และเมืองขีดขิน จังหวัดสระบุรี….’
‘โบราณคดีเหนือบึงบอระเพ็ด’ บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักโบราณคดีและนักวิจัยได้ทำการศึกษาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งได้ประมวลประเมินข้อมูลของโบราณวัตถุที่มีความสำคัญของพื้นที่บริเวณนี้และเชื่อมภาพทางภูมิวัฒนธรรมไว้อย่างน่าสนใจ ทำให้เห็นภาพรวมของจุดเชื่อมต่อของนิเวศวัฒนธรรมภูมิภาคแถบนี้ของเมืองโบราณต่างๆ

ภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ (Phimai Black Ware)
‘….บริเวณเหนือบึงบอระเพ็ดเป็นที่ลุ่มต่ำ มีลำน้ำหลายสายและเต็มไปด้วยเส้นทางน้ำเก่าที่เป็นกุดน้ำหรือบึงน้ำรูปแอกวัว ซึ่งเกิดจากลำน้ำเปลี่ยนเส้นทาง ในบริเวณนี้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำไปยังหัวเมืองฝ่ายเหนือต่างๆ เช่น พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย สวรรคโลก เป็นต้น อาชีพของชาวบ้านนอกจากการทำประมงแล้ว การทำนาปลูกข้าวมักได้รับความเสียหายอยู่เสมอ ทำให้มีการอยู่อาศัยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันไม่หนาแน่นเท่าใดนัก
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีชุมชนโบราณอยู่อาศัยอย่างชัดเจน แต่ก็พบโบราณวัตถุและโบราณสถานที่มีความสำคัญแก่การกล่าวถึง ได้แก่ ‘ธรรมจักรแห่งเสาหิน วัดท่าไม้’ ธรรมจักรศิลาเป็นศิลปะสมัยทวารวดี มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๔๐ นิ้ว วงล้อทำเป็นแผ่นทึบ วิวัฒนาการของลวดลายสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ส่วนเสาเป็นเสาแปดเหลี่ยม ไม่มีจารึกแต่อย่างใด

ธรรมจักรแห่งเสาหิน วัดท่าไม้ จังหวัดนครสวรรค์