จากเขตเมืองจันเสนก็เดินทางตามลำน้ำไปยังลำน้ำเจ้าพระยาเก่าที่ไหลมาจากบึงบอระเพ็ด ผ่านอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ มายังตำบลหางน้ำสาครในเขตอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท พระนางจามเทวีเสด็จขึ้นตามลำน้ำเจ้าพระยาเก่าผ่าน เมืองอู่ตะเภา (เมืองล่าง) ที่ตำบลหางน้ำสาคร ขึ้นมายังเมืองบนสมัยทวารวดีที่บ้านโคกไม้เดน ตำบลท่าน้ำอ้อย เขตอำเภอพยุหะคีรี ไปยังต้นน้ำเจ้าพระยาที่บึงบอระเพ็ด แล้วเสด็จขึ้นไปทางเหนือโดยลำน้ำปิงที่เมืองพระบางหรือนครสวรรค์
เท่าที่กล่าวมาแล้วคือร่องรอยของเส้นทางคมนาคมทางน้ำจากเมืองละโว้ไปสัมพันธ์กับบ้านเมืองทางเหนือตามชายขอบที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนถึงเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน ซึ่งเมื่อมองภาพรวมทางภูมิวัฒนธรรมของลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเห็นได้ว่า ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองละโว้ คือนครรัฐที่เป็นเมืองท่าทางฟากตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่คนละฟากกับเมืองนครชัยศรีและเมืองอู่ทองทางฟากตะวันตก

กำไลเปลือกหอยมือเสือ จากชุมชนก่อนประวัติศาสตร์
บริเวณลุ่มน้ำลพบุรี
ความสำคัญของเมืองท่าทั้งสองต่างกัน เมืองนครชัยศรีคือเมืองท่าใหญ่สำหรับการติดต่อโพ้นทะเลที่มาจากทางตะวันตก และเส้นทางคมนาคมที่มาจากบ้านเมืองมอญและพม่าทางชายฝั่งทะเลอันดามัน แต่เมืองละโว้มีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองทางฟากตะวันออกที่ผ่านลุ่มน้ำป่าสักขึ้นไปยังที่ราบสูงโคราชในดินแดนลุ่มน้ำโขงทางชายฝั่งทะเลจีนใต้ จึงเห็นได้ว่าเมืองละโว้มีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองที่เก่าแก่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในอาณาบริเวณกว้างขวางใหญ่โตกว่าทางเมืองนครชัยศรีที่พัฒนาขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำลำคลอง [Riverine Area]
แต่เมืองละโว้ครอบคลุมพื้นที่บนที่สูง ที่ราบสูง ป่าเขาที่เต็มไปด้วยของป่าและแร่ธาตุในบริเวณและปริมณฑลที่ มากกว่า โดยเฉพาะพื้นที่ภูมิวัฒนธรรมโดยรอบเมืองละโว้ ซึ่งเป็นกลุ่มเขานงประจันต์ เขาพระงาม เขาสามยอด และกลุ่มเขาพระพุทธบาท ล้วนเป็นแหล่งชุมชนบ้านเมืองที่เกี่ยวกับการอุตสาหกรรมถลุงเหล็กและทองแดงที่หนาแน่นกว่าแห่งใดๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
อายุและพัฒนาการเมืองละโว้ เทียบได้กับเมืองอู่ทองที่มีอายุเก่าขึ้นไปถึงสมัยฟูนันและสุวรรณภูมิ ซึ่งแสดงให้เห็นจากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีที่ตำบลท่าแค ตำบลห้วยโป่ง เมืองซับจำปา จังหวัดลพบุรี บ้านใหม่ชัยมงคลที่จันเสน จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น
ชุมชนบ้านเมืองเหล่านี้ในยุคเหล็กหาได้อยู่โดดเดี่ยวไม่ หากมีความสัมพันธ์กับการค้าระยะไกลจากแหล่งอารยธรรมยุคสำริดจากทางยูนนาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากรูปแบบของอาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนเครื่องประดับ เช่น รูปแบบของขวานสำริด กลองสำริด กำไลสำริด ตุ้มหู ลูกปัดที่ทำด้วยหินสี หินกึ่งหยก สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของแหล่งโบราณคดีที่บ้านท่าแค ซึ่งนอกจากเป็นแหล่งอุตสาหกรรมทองแดงและเหล็กแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับด้วยหอยทะเลลึก เช่น หอยมือเสือและหอยสังข์ การใช้เปลือกหอยทะเลลึกทำเครื่องประดับและเป็นวัตถุมงคลนี้ เป็นสิ่งสากลของบรรดาบ้านเมืองโบราณที่มีความสัมพันธ์การค้าระยะไกลโพ้นทะเลมาราว ๓,๐๐๐ ปีทีเดียว
จากรูปแบบของโบราณวัตถุ เช่น เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในการเซ่นศพซึ่งพบตามแหล่งฝังศพในพื้นที่ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสักนั้น มีความคล้ายคลึงกับรูปแบบของกลุ่มวัฒนธรรมแบบซาหวิ่นห์ อันเป็นบรรพบุรุษพวกจามในเวียดนาม คนเหล่านี้เป็นพวกพ่อค้าระยะไกลทั้งทางบกและทางทะเล และเป็นกลุ่มชนที่นำพาเครื่องประดับและรูปแบบของศิลปะแบบดองซอนแพร่ไปตามชุมชนต่างๆ ที่อยู่ชายฝั่งทะเลจีน ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย เช่นเดียวกันกับเมืองอู่ทองและชุมชนทางฟากตะวันตกและฝั่งอันดามันของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีการเกี่ยวข้องกับอินเดียในสมัยสุวรรณภูมิ คือราวพุทธศตวรรษที่ ๒-๓ ลงมา บ้านเมืองทางฟากฝั่งเมืองละโว้ก็มีความสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน แต่ไม่มากเท่ากับทางฝั่งเมืองอู่ทอง