หนองบึงเหล่านี้เป็นนิเวศธรรมชาติอย่างหนึ่งที่มีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานโดยรอบหรือใกล้หนอง เป็นชุมชนบ้านและเมืองขนาดเล็ก แต่หากเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ เช่น หนองหานสกลนคร บึงบอระเพ็ด และกว๊านพะเยา จะเป็นแหล่งที่เกิดบ้านเมืองและนครขึ้นได้ เช่น เมืองพะเยาของภาคเหนือ เมืองหนองหานสกลนคร เมืองโยนกนาคพันธ์ที่หนองล่มในเขตอำเภอเชียงแสน เป็นต้น ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ เมืองพระนคร ที่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งตั้งอยู่บนขอบทะเลสาบเขมร
ความสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นเป็น ‘เมือง’ และ ‘รัฐ’ ของบริเวณที่เป็นหนองน้ำหรือทะเลสาบดังกล่าวก็คือ บริเวณเหล่านี้มีฤดูน้ำมากและน้ำน้อย (Seasonal Lake) ที่ทำให้พื้นที่รอบทะเลสาบแบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะที่เป็น ‘ทาม’ อยู่รอบนอก เป็นที่น้ำท่วมท้นในฤดูฝน และในฤดูแล้งที่น้ำลด พื้นที่ทามสามารถเพาะปลูกพืชพรรณได้เช่นเดียวกับ ‘บุ่ง’ หรือบึงที่อยู่ด้านในของหนองน้ำ มีน้ำตลอดปี แม้จะพร่องไปบ้างในฤดูแล้งก็ตาม
ทั้งบุ่งและทามนี้มีความหมายกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมนุษย์อย่างยิ่ง เพราะสามารถตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยบนบริเวณที่สูง ที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงรอบๆ ทะเลสาบ และอาศัยพื้นที่ทาม คือ พื้นที่รอบทะเลสาบชั้นในทำการเพาะปลูก เช่น ปลูกข้าว ที่อาศัยน้ำจากการชลประทาน (Wet Rice) สร้างทำนบชะลอน้ำเพื่อให้มีน้ำพอเพียงแก่การเพาะปลูก คือ ชะลอน้ำให้เลี้ยงต้นข้าวและพืชพรรณในเวลาแรกปลูก ไม่ให้ไหลลงสู่พื้นที่ที่เป็นบึงของทะเลสาบ ลักษณะการทำนาปลูกข้าวดังกล่าวเรียกว่า การทำนาทาม บรรดาบ้านเมืองที่เป็นเมืองใหญ่เป็นนครซึ่งมักเกิดขึ้นรอบทะเลสาบ จึงอาศัยพื้นที่ทำนาทามเป็นสำคัญ อย่างเช่นการปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงประชากรเมืองพระนครที่ทะเลสาบเขมร เป็นต้น….’
สอดคล้องกับแนวความคิดบ้านเมืองในยุคทวารวดีตอนกลางบนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ของอาจารย์ศรีศักร ที่ขยายภาพกว้างให้เห็นว่า
‘....เมืองใหญ่คือ เมืองบน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอพยุหะคีรี และกินอาณาเขตไปถึงเชิงเขาโคกไม้เดน เป็นเมืองใหญ่บนแพรกน้ำที่แยกและขนานไปกับลำน้ำเจ้าพระยาไปเป็นแม่น้ำหางสาคร
ส่วนเมืองอู่ตะเภาตั้งต่ำลงมาริมลำน้ำเก่าที่เรียกว่า ‘หางน้ำสาคร’ บนที่ลาดเชิงเขาแหลม เขาลูกโดดกลางที่ดอนขนาดใหญ่น้ำท่วมไม่ถึง ทั้งยังอุดมด้วยแร่เหล็ก พบร่องรอยชุมชนบ้านเมืองขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป เมืองอู่ตะเภาเป็นเมืองท่าภายใน มีลำน้ำขนาดใหญ่ติดต่อผ่านลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างไปออกทะเลที่อ่าวไทย ในตำนานท้องถิ่นเรียกเมืองนี้ว่า เมืองล่างคู่กันกับเมืองบนที่โคกไม้เดน
ลำน้ำหางน้ำสาครไหลลงใต้ไปยังอำเภอสรรพยาแตกออกมาเป็นหลายแพรก ขนานกับลำแม่น้ำน้อยที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านอำเภอมโนรมย์และอำเภอเมืองชัยนาท ท้องทุ่งลุ่มต่ำน้ำท่วมถึงระหว่างลำน้ำหางน้ำสาครทางด้านตะวันออกที่กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อยทางด้านตะวันตก มีชุมชนบ้านเมืองเกิดขึ้นแต่ยุคเหล็กตอนปลายมาถึงสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ลงมา อันเป็นช่วงเวลาที่มีการขยายตัวของเส้นทางการค้าจากบ้านเมืองทางชายฝั่งทะเลเข้าสู่ภายใน พร้อมทั้งการแผ่พุทธศาสนามหายานแบบศรีวิชัยเข้ามา
อีกเมืองหนึ่งที่มีลักษณะเป็นเมืองใหญ่คือ เมืองดอนคา เชิงเขาลูกโดดในเขตอำเภอท่าตะโก เป็นเมืองที่อยู่ตีนเขาต้นลำน้ำที่ไหลไปลงบึงบอระเพ็ดสายหนึ่ง และอีกสายหนึ่งลงสู่ที่ราบลุ่มไปรวมกับลำน้ำหางสาคร