ผู้เข้าชม
0
26 ธันวาคม 2567

บึงบอระเพ็ด เป็นบึงทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเนื้อที่ ๑๓๒,๗๓๗ ไร่ อยู่ในท้องที่ ๓ อำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอท่าตะโก และอำเภอชุมแสง หากมองจากยอดเขากบหรือเขาหลวง จะเห็นบึงน้ำกว้างใหญ่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมือง มีอาณาเขตในระหว่างรอยต่อของ ๓ อำเภอคือ ตำบลหนองกรด ตำบลเกรียงไกร อำเภอเมือง ตำบลเขาพนมเศษ อำเภอท่าตะโก และตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง 

ลักษณะทางธรณีสัณฐานบริเวณบึงบอระเพ็ด อธิบายได้ว่ามีความสัมพันธ์กับแนวรอยเลื่อนแม่น้ำปิงที่พาดจากแนวตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ และที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ซึ่งมีแม่น้ำไหลมารวมกันหลายสาย จนเกิดการทรุดตัวของบริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนบนเป็นแอ่ง ภายหลังมีตะกอนทับถมจนกลายเป็นบึงในปัจจุบัน
 


บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เป็นบึงทะเลสาบน้ำจืด
ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

เทือกเขาเพชรบูรณ์ เป็นขอบเขตด้านตะวันออกของที่ราบเจ้าพระยาตอนบน มีทางน้ำหลายสายไหลลงสู่แม่น้ำน่านและแม่น้ำยม ทำให้เกิดเป็นพื้นที่เนินตะกอนรูปพัด เกิดจากการที่น้ำไหลพาตะกอนจากภูเขาลงมาตามหุบเขาแคบๆ ด้วยความเร็วสูง พอถึงบริเวณที่ราบความเร็วของน้ำลดลง ตะกอนน้ำพามาจึงตกทับถมแผ่กว้าง แต่เดิมบึงบอระเพ็ดเป็นเพียงคลองสายใหญ่ซึ่งรับน้ำจากเขตอำเภอท่าตะโกต่อเขตแดนเพชรบูรณ์ ในอดีตชาวบ้านรอบๆ เรียกว่า คลองบอระเพ็ด

ในอดีตหากตั้งต้นตั้งแต่สถานีรถไฟปากน้ำโพไปทางทิศตะวันออกจนถึงอำเภอท่าตะโก มีป่ามากมาย เป็นป่าที่มีหนองน้ำเป็นพันๆ หนอง ในลำคลองบอระเพ็ดมีแต่จระเข้ ตามลำคลองตามหนองมีปลามากมาย เป็นแหล่งที่เคยมีมหิงสาหรือควายป่ามากที่สุด และมีพวกละมั่งมาก มีต้นจิกต้นกระทุ่มทึบไปหมด

ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ดร. ฮิวห์ แมคคอร์มิค สมิธ (Dr.Hugh McCormick Smith) ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันที่รัฐบาลไทยจ้างมาเป็นที่ปรึกษาด้านสัตว์น้ำของประเทศ แนะนำให้สร้างประตูระบายน้ำทำให้ที่ลุ่มกลายเป็นบึง ต่อมากรมประมงได้ดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำและฝายน้ำล้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้ที่ระดับ ๒๓.๘๐ เมตร จากระดับทะเลปานกลาง วัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา และได้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ

ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๘๐ มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตคุ้มครองของกรมประมง นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศให้บึงบอระเพ็ดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดหรืออุทยานนกน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของบึงบอระเพ็ด ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของบึง โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะมีนกอพยพมามากที่สุด นกชนิดหนึ่งที่ค้นพบที่บึงบอระเพ็ดเป็นแห่งแรกในประเทศไทยคือ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร โดยนายกิตติ ทองลงยา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นนกหายากมากจนไม่มีผู้พบเห็นมาหลายปีแล้ว ปัจจุบันได้รับการคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ ๑

ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ กรมประมงสร้างเขื่อนและประตูระบายน้ำใหม่ ทำให้กักเก็บน้ำไว้ได้เพิ่มขึ้นอีก ๒๐ เซนติเมตร เป็นโครงการบูรณะแหล่งน้ำโดยปล่อยน้ำออกจากบึงเพื่อซ่อมประตูระบายน้ำ สร้างเขื่อนหรือคันกั้นน้ำใหม่ ขุดลอกบึง ทำลายวัชพืช จนทำให้บึงบอระเพ็ดแห้งแตกระแหง กลายเป็นผืนดินกว้างใหญ่ก่อนจะปล่อยน้ำให้มีระดับสูงขึ้นกว่าเดิม มีพื้นที่เหนือผิวน้ำประมาณ ๑๓๒,๗๓๗ ไร่ มีความลึกเฉลี่ยราว ๒.๖๒ เมตร บริเวณกลางบึงมีความลึกมากที่สุด ๔.๓๘ เมตร