ผู้เข้าชม
0
26 ธันวาคม 2567

จังหวัดนครราชสีมา และพบที่ปราสาทเมืองแขก อำเภอสูงเนิน และพบที่วัดหนองปรือ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และที่กู่พระโกนา อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น ปรางค์จำลองเป็นส่วนที่ใช้ประดับสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ขึ้นไป

นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมหินทรายสลักลวดลายคล้ายเป็นชิ้นส่วนของทับหลัง ชิ้นส่วนกลีบบัว เป็นต้น และยังได้พบเศษเครื่องถ้วยที่เป็นเครื่องเคลือบจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัยและสุโขทัยด้วย
 


นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมหินทราย
สลักลวดลายคล้ายทับหลัง ชิ้นส่วนกลีบบัว เป็นต้น

 

บริเวณบ้านพันลานสามารถติดต่อกับชุมชนสมัยทวารวดีและลพบุรี เช่นที่ดอนคา ทางพื้นที่ในเขตอำเภอท่าตะโกตลอดจนถึงไพศาลี และชุมชนในเขตลพบุรีและเพชรบูรณ์ ซึ่งติดต่อกับแอ่งอีสานได้ การที่พบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมในศิลปะที่มีอิทธิพลของขอมในบริเวณนี้จึงยืนยันถึงการติดต่อระหว่างภูมิภาคในเขตภาคกลางและในภาคอีสาน

สำหรับช่วงเวลาการติดต่อนั้น น่าจะนำมาจากแหล่งที่อีสานหลังจากพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นไป และน่าจะร่วมสมัยกับชุมชนในสมัยสุโขทัยจนถึงอยุธยาตอนต้น เมื่อพิจารณาจากบริบทแวดล้อมทั้งหลาย….’

ว่าไปแล้ว หากมองกลับไปยังบรรดาเมืองโบราณในเขตนี้มีร่องรอยแสดงถึงการติดต่อกับบ้านเมืองในดินแดนภาคอีสานตอนบน ดังปรากฏประเพณีการปักหินตั้งหรือเสมาแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ของศาสนสถาน เช่นที่รอบพระสถูปของดงแม่นางเมือง บริเวณท้องถิ่นนี้เป็นแหล่งที่อุดมด้วยแร่เหล็กทรัพยากรสำคัญทางการค้า จึงพบตะกรันที่หลงเหลือจากการถลุงแร่กระจายอยู่ทั่วไป

เพราะฉะนั้นการศึกษาถึงโบราณคดีบึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นภูมิวัฒนธรรมที่สำคัญของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนมีรัฐอิสระ รับนับถือพุทธศาสนาเถรวาท ดังเห็นได้จากการเรียกนามพระมหากษัตริย์ว่า ศรีธรรมาโศกราช อันเป็นประเพณีนิยมในวัฒนธรรมพุทธศาสนาแบบเถรวาท แตกต่างจากที่เคยปลูกฝังตามประวัติศาสตร์กระแสหลักมาแต่เดิมว่า ดินแดนสยามประเทศก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นั้นตกอยู่ใต้การปกครองของอาณาจักรขอม ทั้งเมืองธานยปุระน่าจะสัมพันธ์กับเมืองเจนลีฟูที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีนในพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ รวมถึงมีการติดต่อสัมพันธ์กับเมืองโบราณหลายแห่งที่พบในเขตนครสวรรค์ เช่น เมืองบน (เขาโคกไม้เดน) เมืองล่าง (หางน้ำสาคร) เมืองท่าตะโก เมืองไพศาลี ฯลฯ ซึ่งเมืองเหล่านี้เกาะกลุ่มกันในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำน่าน รวมถึงลุ่มน้ำเกรียงไกรที่เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำน่านด้วย

การมองในเชิงนิเวศวัฒนธรรมเกี่ยวกับชุมชนโบราณรอบบึงบอระเพ็ด จากยุคทวารวดีต่อเนื่องมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาได้จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเมืองนครสวรรค์มีฐานะเป็นเมืองประชุมพลและเดินทัพผ่าน เพราะจากพม่าเข้าทางด่านแม่ละเมาตัดเข้าระแหง กำแพงเพชร นครสวรรค์ใช้เพียงช่วงประมาณ พ.ศ.๒๑๐๖–๒๑๒๙ หลังจากนั้นใช้เส้นทางเดินทัพใหม่ทางด่านเจดีย์สามองค์ แต่ก็กลับมาใช้เส้นทางนี้เมื่อสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒  นครสวรรค์ทำหน้าที่เป็นเพียงเมืองส่งกำลังบำรุงทัพหลวงที่ขึ้นไปตั้งรับทัพพม่าในเขตหัวเมืองฝ่ายเหนือ และเป็นเมืองพักทัพ