ผู้เข้าชม
0
16 ธันวาคม 2567

ภูมิวัฒนธรรมหินตั้งของกลุ่มชนโบราณที่เรียกว่าพวกลัวะมีความชัดเจน อีกทั้งยังได้เห็นการสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเข้าสู่ภูมิวัฒนธรรมในยุคต่อมา อันเป็นสมัยที่มีกลุ่มคนจากภายนอก เช่น คนยวนอันเป็นชนชาติในกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนย้ายเข้ามาผสมผสาน เป็นยุคที่มีการนำเอาความคิดทางเทคโนโลยีของการทำชลประทานแบบเหมืองฝายและนาดำเข้ามา ทำให้เกิดการแปงป่าให้เป็นนาในการสร้างบ้านแปงเมือง

คนกลุ่มใหม่ที่เคลื่อนจากภายนอกเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ของคนลัวะแต่เดิมนั้น โดยตำนานเป็นชนชาติพันธุ์ไทยที่มีชีวิตอยู่บนพื้นที่ราบ รอบๆ หนองน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็นทะเลสาบ เช่น ทะเลสาบคุนหมิงและทะเลสาบตาหลี่ในมณฑลยูนนานของจีนตอนใต้ คนเหล่านี้มีประสบการณ์ในการทำนาทดน้ำด้วยระบบเหมืองฝาย เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่รอบๆ หนองหล่ม อันหมายถึงหนองน้ำที่มีน้ำผุดจากใต้ดิน นับเป็นภูมินิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์ การกระจายตัวของคนจากที่ราบดังกล่าวนี้ไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของคนกลุ่มลัวะแต่เดิม ได้ทำให้เกิดการสร้างบ้านแปงเมืองไปทั่วอาณาบริเวณของแอ่งเชียงแสน 

การขยายและการกระจายตัวของชุมชนนั้น เห็นได้จากการสร้างสถานที่ทางวัฒนธรรมขึ้นทับและซ้อนกับแหล่งความเชื่อดั้งเดิมในระบบหินตั้ง ด้วยการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์และรอยพระพุทธบาทบนแหล่งศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิหินตั้ง เช่น สร้างพระธาตุดอยตุงและพระธาตุดอยจ้องขึ้นมาแทนที่ภูสามเส้าในวัฒนธรรมของคนลัวะ โดยเฉพาะพระธาตุนั้นจะตั้งอยู่ในบริเวณที่สัมพันธ์กับแหล่งที่เป็นชุมชนเมือง เช่น พระธาตุปูเข้าที่สบรวกริมแม่น้ำโขง เป็นของคู่กันไปกับบริเวณตัวเมืองที่เรียกว่า เวียง เช่น พระธาตุปูเข้าสัมพันธ์กับเวียงปูเข้า พระธาตุจอมกิติสัมพันธ์กับเวียงเชียงแสน และพระธาตุดอยจันสัมพันธ์กับเวียงปรึกษา เป็นต้น

การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของภูมิวัฒนธรรมของภูสามเส้ามาเป็นดอยตุง อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์ของพุทธศาสนาแทนแหล่งศักดิ์สิทธิ์ของคนลัวะในวัฒนธรรมหินตั้งมาสู่ภูมิวัฒนธรรมของบ้านเมืองในยุคเกษตรกรรมที่มีการชลประทานเหมืองฝาย ก็คือตำนานพงศาวดารโยนกนั้นกล่าวว่า เจ้าผู้ครองเวียงพานคำริมลำน้ำแม่สาย ตีนเขาดอยจ้อง คือเชื้อสายของพระเจ้าพรหมของตระกูลสิงหนวัติ เป็นผู้สร้างฝายและขุดเหมืองแดง ระบายน้ำจากลำน้ำแม่สายและธารน้ำที่ไหลลงจากเขามาเลี้ยงแหล่งทำนาปลูกข้าวในพื้นที่ราบลุ่มของแอ่งเชียงแสน ซึ่งปัจจุบันนี้เหมืองแดงก็ยังคงมีอยู่ รวมทั้งการขยายตัวของเหมืองฝายไปทั่วพื้นที่เกษตรกรรมของแอ่งเชียงแสน

เมื่อนำความรู้ทางด้านคติชนวิทยา ในเรื่อง ‘ปู่เจ้าลาวจก’ ตำนานดั้งเดิมแห่งภูสามเส้าหรือดอยนางนอน พบว่า ปู่เจ้าลาวจก หรือลาวจง เป็นปฐมกษัตริย์ของล้านนา คำว่า ลาว ที่นำหน้าหมายถึงนาย หรือผู้มีอำนาจ ต่อมาในยุคที่วรรณกรรมภาษาบาลีในล้านนาเฟื่องฟู จึงแปลงพระนามเป็น ลวจักราช

ตามตำนาน เช่น พื้นเมืองเชียงใหม่ หรือพื้นเมืองเชียงแสนระบุว่า เมื่อพระเจ้าอนุรุทธ แห่งพุกาม ประชุมกษัตริย์เมืองต่างๆ เพื่อตั้งศักราชใหม่ ปรากฏว่าพวกลุ่มน้ำกกหามีกษัตริย์ไม่ พระอินทร์จึงส่งลาวจงเทวบุตร ก่าย เกินเงิน (บันไดเงิน) แต่จอมเขายุคุนธร มาสู่บริเวณดอยตุงที่ต้นไม้หมากขะทัน พร้อมบริวารหนึ่งพันคน ลาวจงเทวบุตรมายืนบนแท่นเงินใต้ต้นหมากขะทัน (พุทรา) แล้วกลายเพศจากเทวดา โอปปาติกะเป็นมนุษย์เหนือแท่นเงินนั้น ชาวเมืองจึงยกให้เป็นปฐมกษัตริย์พระองค์แรก

จากตำนานพอจะเห็นถึงร่องรอยเค้าโครงได้ว่า ปู่เจ้าลาวจกเป็นคนที่มีถิ่นฐานอยู่บนดอยตุง มีการติดต่อสัมพันธ์กับคนพื้นที่ราบเชิงดอยตุง ภายหลังนำคนจากที่สูงบนดอยตุงลงมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ที่ลำน้ำตีนเขา
 


พระธาตุจอมกิติ จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม