หลังจากนั้นได้ขยายอำนาจเข้าไปในแอ่งเชียงใหม่จนทำให้เกิดแคว้นล้านนาขึ้น ลักษณะทางภูมิศาสตร์กายภาพหรือภูมินิเวศทางธรรมชาติ (Natural Landscape) ของทั้งสองแอ่งคือเชียงแสนและพะเยานั้นเหมือนกัน คือประกอบด้วยพื้นที่ที่มีเขาอยู่โดยรอบ ที่มีลำน้ำลำห้วยไหลลงจากเขาและที่สูงลงสู่ที่ลุ่มต่ำ อันเป็นที่รับน้ำ เช่น บึงและหนอง ที่มีระดับน้ำแตกต่างกันระหว่างฤดูแล้งกับฤดูฝน (Seasonal Lake) ในฤดูแล้งพื้นที่รอบหนองส่วนหนึ่งแห้ง พอถึงฤดูฝนน้ำท่วมบริเวณชายขอบบึงทำให้เกิดเป็นปริมณฑลกว้างขวาง ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า หนอง
สังคมเกษตรกรรมแบบชาวนา (Peasant Communities) พัฒนาขึ้นตามขอบหนองเหล่านี้ ตามบริเวณชายขอบที่สูงที่สามารถใช้น้ำจากลำห้วยลำธารที่ไหลลงจากเขาและที่สูงมาเป็นน้ำกินและน้ำอุปโภค รวมทั้งเพื่อทำการเพาะปลูกในพื้นที่แห้งในฤดูแล้งรอบหนองได้
พื้นที่ชายขอบหนองที่เกิดชุมชนบ้านและเมืองนั้นเรียกในทางธรณีสัณฐานว่า ที่ราบขั้นกระได หรือที่ลาดต่ำ (Low Terrace) แต่พื้นที่ลุ่มต่ำที่ทำการเพาะปลูกนั้นคือที่ราบลุ่มหรือลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมถึง ชุมชนชาวนาของสังคมชาวนาในระยะแรกๆ มักจะทำนาแบบนาทาม คืออาศัยพื้นที่ทามในการหว่านข้าวลงไป โดยการชะลอน้ำในตอนปลายฤดูฝนด้วยการใช้คันดินหรือทำนบกักน้ำ ชะลอน้ำ และแบ่งน้ำเพื่อการเติบโตของต้นข้าว เป็นการทำนาปีแต่เพียงอย่างเดียว ลักษณะการตั้งถิ่นฐานและการทำเกษตรกรรมแบบนี้ไม่ใคร่ทำให้ลักษณะของภูมินิเวศธรรมชาติและภูมิวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงเท่าใด
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายหลังเมื่อมีพัฒนาการของการทำนาแบบทดน้ำ (Irrigated Rice Cultivation) เกิดขึ้นโดยเฉพาะการชลประทานแบบเหมืองฝาย ที่มาพร้อมกับคนกลุ่มใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงกว่า หรือมาจากการได้รับอิทธิพลทางเทคโนโลยีในการชลประทานและการทำการเพาะปลูกจากภายนอก
เทือกเขาและแอ่งที่ราบเชียงแสน กลุ่มชนแรกเริ่มกระจายกันอยู่ตามที่ลาดสูงและลาดต่ำของเทือกเขาด้านตะวันตกของแอ่ง อันมีดอยตุงเป็นสัญลักษณ์ทางภูมิทัศน์ ที่ในตำนานเมืองเชียงแสนและพงศาวดารโยนกเรียกว่า ภูสามเส้า เป็นกลุ่มชนที่เรียกว่า พวกลัวะ ที่มีปู่เจ้าลาวจกเป็นหัวหน้า คนเหล่านี้ใช้เสียมตุ่นเป็นเครื่องมือทำกินแบบทำสวนคือ ปลูกพืชปลูกต้นไม้แต่พอเลี้ยงตัวเอง (Horticulture) อันเป็นระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ (Subsistence Economy)
เสียมตุ่น เป็นรูปแบบหนึ่งของเครื่องมือหินขัดที่พบกระจายอยู่ทั่วไปทั้งบนที่สูงและที่ต่ำ กลุ่มลัวะนี้มีการเติบโตและขยายตัว และบริเวณเทือกเขาด้านตะวันตกไปตามเขาและที่ลาดสูงที่อยู่โดยรอบของแอ่ง โดยเฉพาะทางด้านใต้ ด้านเหนือ และที่สูงทางตะวันออกที่ต่อกับบริเวณชายฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่สบรวกลงไปถึงเชียงแสนและเวียงปรึกษา จนจดปากแม่น้ำกก อันเป็นบริเวณที่มีหนองน้ำและที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึงที่เรียกว่า หนองหล่ม โดยลักษณะภูมิประเทศดังกล่าวอาจแบ่งบริเวณแอ่งเชียงแสนออกได้เป็น ๒ บริเวณใหญ่ บริเวณแรกคือที่ราบลุ่มและหนองบึงด้านหน้าดอยตุงของลำน้ำลำห้วยที่ไหลลงจากเทือกเขาดอยตุง เช่น ลำน้ำแม่สาย ลำน้ำแม่คำ และลำน้ำแม่จัน ลำน้ำแม่สายอยู่ทางเหนือไหลไปทางตะวันออกไปสบกับลำน้ำรวกที่ไหลมาจากเทือกเขาด้านเหนือในเขตประเทศพม่า รวมกันเป็นลำน้ำรวกไหลไปออกแม่น้ำโขงที่สบรวกที่ปัจจุบันเรียกว่า สามเหลี่ยมทองคำ

สามเหลี่ยมทองคำ บริเวณบ้านสบรวก
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม