จากความเชื่อและเรื่องเล่าตำนานต่างๆ ทำให้รู้ว่าหินตั้งมีความสำคัญมากต่อการสร้างบ้านปักหลักเมืองของคนโบราณ ซึ่งสถานที่ที่จะสร้างเมืองได้นั้นจะต้องถูกหลักต่อการสร้าง มีพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ แหล่งทำการเกษตรต่างๆ เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตคนในเมืองได้ และยังต้องมีรั้วบ้านที่สามารถป้องกันภัยจากภายนอกได้
นอกจากนี้ เขตแดนบริเวณที่มีหินตั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นเขตสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากเป็นสถานที่เซ่นไหว้บูชาหลังการสร้างเมือง และบูชาผีบรรพบุรุษของผู้คนตามท้องถิ่นนั้นๆ
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งได้เดินเท้าศึกษาและสำรวจแหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆ ในดินแดนประเทศไทย และนำมาใช้เป็นพื้นฐานสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นให้แก่ชาวบ้านชาวเมืองที่มีสำนึกในเรื่องชาติภูมิและมาตุภูมิ ตามแนวคิดของอาจารย์ศรีศักรนั้น การเข้าถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้นต้องทำความเข้าใจกับสาระสำคัญ ๓ เรื่อง คือ ‘ภูมิวัฒนธรรม’/‘นิเวศวัฒนธรรม’ และ ‘ชีวิตวัฒนธรรม’
ภูมิวัฒนธรรมที่อาจารย์ศรีศักรกล่าวถึงในภาคเหนือที่ในอดีตเรียกว่า ล้านนาไทย แบ่งย่อยๆ ออกเป็นแอ่งใหญ่ๆ ได้ ๒ แอ่ง คือ ‘แอ่งเชียงใหม่’ และ ‘แอ่งเชียงราย’ โดยเฉพาะแอ่งเชียงรายนั้น มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ‘โยนก’ และผู้คนได้รับการขนานชื่อว่า ยวนหรือไทยยวน
แอ่งเชียงรายมีพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญอยู่ ๒ ที่ราบลุ่ม คือแม่น้ำกกและแม่น้ำอิง แต่ละลุ่มน้ำก็มีแอ่งและหุบ (Basin และ Valley) หลายแห่ง อันเป็นพื้นที่คนเคลื่อนย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านและเมือง และทำเกษตรกรรมเพื่อดำรงชีวิตร่วมกัน แต่ละแอ่งดังกล่าวนี้เป็นเบ้าหลอมที่ทำให้คนหลายชาติพันธุ์ หลายภาษาและศาสนา ความเชื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานร่วมกัน สัมพันธ์กันทางสังคม ทั้งการแต่งงานและทำกินในพื้นที่เดียวกัน เป็นที่เกิดและตายร่วมกัน ทำให้มีสำนึกร่วมในพื้นที่เกิดหรือมาตุภูมิเดียวกัน โดยสร้างความรู้ชั้นชุดหนึ่งในนามของจารีตและประเพณีให้เป็นสิ่งรับรู้ร่วมกันและถ่ายทอดมายังคนรุ่นหลังๆ เพื่อการอยู่รอดร่วมกัน
นับเป็นความรู้จากคนภายในท้องถิ่นและระหว่างถิ่นที่สัมพันธ์กันเป็นภูมิวัฒนธรรมจากสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม วัฒนธรรมก็คือการเรียกชื่อสถานที่ต่างๆ ทั้งแม่น้ำลำคลอง หนอง ห้วย ป่าเขา ทุ่งราย และนามบ้านนามเมือง อันเป็นที่รับรู้กันของบรรดาคนใน โดยมีการถ่ายทอดผ่านตำนานและนิทานจากทั้งทางเอกสารและการบอกเล่า
อาจารย์ศรีศักร ได้แบ่งแอ่งย่อยๆ ๒ แอ่ง ในลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำอิงมากล่าวถึง นั่นคือ ‘แอ่งเชียงแสน’ ในลุ่มน้ำกก กับ ‘แอ่งพะเยา’ ในลุ่มน้ำอิง โดยเพ่งความสนใจไปที่สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละแอ่งเป็นจุดเริ่มต้น คือดอยตุงของแอ่งเชียงแสน และดอยด้วนของแอ่งพะเยา ทั้งสองแอ่งนี้เป็นพื้นที่และภูมิวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดนครรัฐสองรัฐในแอ่งเชียงรายคือ เชียงแสนและพะเยา เป็นนครรัฐก่อนเกิดการรวมตัวกันขึ้นโดยพญามังราย