ผู้เข้าชม
0
16 ธันวาคม 2567

เวอร์ กอร์ดอน ไชลด์ (Vere Gordon Childe) นักโบราณคดีชาวออสเตรเลียที่เชี่ยวชาญในการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของยุโรป ทำงานเป็นนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ และสถาบันโบราณคดี ลอนดอน ได้อรรถาธิบาย คำว่า Megalithic มาจากคำภาษากรีก 2 คำ คือ Megas แปลว่าใหญ่ และ Lithos แปลว่า หิน โดยนักโบราณคดีได้นำมาใช้ครั้งแรกเพื่ออธิบายประเภทของอนุสรณ์สถานที่สามารถกำหนดได้ค่อนข้างง่ายในยุโรปตะวันตกและตอนเหนือ ซึ่งประกอบด้วยหินขนาดใหญ่

กล่าวอีกนัยหนึ่งมักหมายถึงการฝังศพด้วยหินขนาดใหญ่ในสุสานที่อยู่ห่างจากพื้นที่อยู่อาศัยและการค้นพบนี้มีอายุย้อนกลับไปถึง ๕,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล โดยโครงสร้างที่สร้างด้วยหินก้อนใหญ่ มีอยู่เป็นจำนวนมากทั่วโลก มีมาตั้งแต่ยุคหินกลางและยุคหินใหม่ 

อย่างไรก็ตาม แหล่งโบราณคดีหินตั้งส่วนใหญ่มาจากยุคเหล็ก แม้ว่าบางแหล่งจะสร้างขึ้นก่อนยุคเหล็ก ซึ่งเดิมหมายถึงหินก้อนใหญ่ที่แสดงถึงยุคหินใหญ่ ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ ๒,๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาลถึง ๒๐๐ ปีก่อนคริสตกาล สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์หรือสถานที่ฝังศพเป็นหลัก และถือเป็นโครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เรารู้จักในปัจจุบัน เชื่อกันว่าหินเหล่านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหลังการฝังศพหรือพิธีฝังศพ 

หินตั้ง (Standing Stone) คือ เขตแดน หรือ การสร้างปริมณฑล (Boundary) เพื่อพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อของแต่ละท้องที่ ซึ่งชุมชนบรรพกาลทั่วโลก ล้วนมีร่องรอยพิธีกรรมเพื่อความเชื่อในลัทธิบูชาอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือ ผี (Animism) จึงมักจะมีการสร้างสถานที่ติดต่อกับอำนาจเหนือธรรมชาติในรูปแบบของอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ หรือเขตหวงห้าม มิให้ผู้คนทั่วไปในชุมชน เข้ามารบกวนกระบวนการเซ่นสรวง บูชา และลุกล้ำสิ่งอื่นๆ ที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสถานที่นั้นๆ 

ชุมชนโบราณอายุ ๓,๐๐๐ - ๑,๐๐๐ ปี ทั่วโลกต่างก็ล้วนมีร่องรอยของวัฒนธรรมหินตั้งกันแทบทั้งสิ้น เช่น ในประเทศลาว มีทุ่งไหหิน เมืองโพนสะหวัน ก็จัดเป็นวัฒนธรรมหินตั้งอีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตามที่นักมานุษยวิทยาได้ลงความเห็นกันว่า บริเวณที่มีหินตั้ง น่าจะเป็นที่ฝังกระดูกของบรรพบุรุษ หรือเป็นสถานที่เพื่อทำพิธีฝังศพครั้งที่สอง หลังจากมีการนำซากศพจากแร้งกิน หรือจากการเผามาแล้วในครั้งแรก พิธีฝังศพครั้งที่สอง น่าจะมีการฆ่าสัตว์ เช่น วัว ควาย เพื่อการเซ่นไหว้บูชาอำนาจเหนือธรรมชาติและผีบรรพบุรุษ  

หินตั้งจะถูกใช้เพื่อการล่ามสัตว์ที่นำมาฆ่าบูชายัญ ฉะนั้นจึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่วิญญาณบรรพบุรุษกับวิญญาณสัตว์ที่ถูกฆ่าจะมาสิงสถิตเพื่อคอยดูแลปกป้องคุ้มครองเผ่าพันธุ์ลูกหลาน นอกจากการใช้หินในการตั้งเป็นขอบเขตของปริมณฑลแห่งความศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังพบว่ามีร่องรอยของการใช้เสาไม้เป็นหลักเขตพิธีกรรมแทนการใช้หินอีกด้วย

สำหรับสยามเทศะหรือดินแดนประเทศไทย มีการค้นพบวัฒนธรรมหินตั้งและร่องรอยประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับการบูชายัญและผี เป็นปริศนามากมายหลายแห่งทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ กระจัดกระจายตัวไปทั่ว เช่นที่ ลุ่มน้ำอิง จังหวัดเชียงราย ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี 

ร่องรอยวัฒนธรรมหินตั้งนั้น มีการสืบเนื่องในศาสนาผีราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว โดยใช้สืบเนื่องมาจนรับศาสนาจากอินเดียราวหลังปี พ.ศ. ๑,๐๐๐ ในตำนานนิทานในแต่ละภูมิภาคมีการเรียกชื่อหินตั้งแตกต่างกันตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น 
 


ทุ่งไหหิน ประเทศลาว
จากระบบฐานข้อมูลภาพศรีศักร-มานิต วัลลิโภดม