ผู้เข้าชม
0
16 ธันวาคม 2567

นอกจากนี้ในบริเวณที่ราบยังพบว่ามีน้ำซับจากใต้ดินอยู่บางแห่ง เช่น ที่หนองหล่ม ซึ่งในตำนานพื้นเมืองเชียงแสนระบุว่าเดิมเป็นเวียงโยนก แต่ท้ายสุดล่มลงไปกลายเป็นหนองน้ำ หนองน้ำดังกล่าวอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงแสน ด้วยสภาพทางธรรมชาติดังกล่าวยังมีอิทธิพลต่อโลกทัศน์ของคนในท้องถิ่น กล่าวคือ ชาวลัวะซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในท้องถิ่นถือว่า ภูเขาแห่งนี้เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์เป็นหลักสำคัญ (Landmark) ในการแบ่งพื้นที่หรือการเดินทางและสัมพันธ์กับการโยนหินสามก้อนในการเดินผ่านแดนธรรมชาติแห่งนี้ ขณะที่ถ้ำตามภูเขาก็ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งที่มักจะมีการบูชาอยู่หน้าถ้ำและไม่รุกล้ำเข้าไปด้านใน
 


ผังโดยสังเขปบริเวณที่ตั้งของเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย

 

 

 

นอกจากมิติทางด้านภูมิศาสตร์ในการศึกษาและการทำความเข้าใจต่อภูสามเส้า ในอีกแง่หนึ่งมิติทางประวัติศาสตร์ยังสะท้อนพัฒนาการในพื้นที่ภูสามเส้า-แอ่งที่ราบเชียงแสนผ่าน ‘ตำนานพื้นเมืองเชียงแสน’ ยังเป็นอีกหนึ่งมิติที่สำคัญในการทำความเข้าใจและศึกษาพื้นที่ดังกล่าว และแม้ว่าหลักฐานจากตำนานท้องถิ่นจะไม่สามารถระบุช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน หากแต่ภาพสะท้อนจากเนื้อหาของตำนานย่อมทำให้เห็นถึงสาระสำคัญของพัฒนาการในพื้นที่ได้ 

ประการแรก คือการผสมผสานระหว่างกลุ่มคนดั้งเดิมในพื้นที่กับกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายมาจากต่างพื้นที่ กล่าวคือ กลุ่มชาวไทยผู้ที่เคลื่อนย้ายมาจากต่างพื้นที่ได้นำระบบความเชื่อทางศาสนาพุทธของตนเข้ามาผสมผสาน (Acculturation) กับความเชื่อดั้งเดิมในท้องถิ่นดังเห็นได้จากการสร้างพระธาตุดอยตุงตามตำนานได้กล่าวว่า

พระยาอชุตราชได้ให้ปู่เจ้าลาวจก หมายถึงชาวลัวะที่ตามตำนานกล่าวว่ามีศรัทธาในพระพุทธศาสนาถวายข้าวใส่บาตรให้แด่พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพระองค์เสด็จผ่านมายังบริเวณดอยดินแดงหรือดอยตุงแห่งนี้ เป็นผู้ดูแลองค์พระธาตุ พร้อมด้วยบริวารอีก ๕๐๐ คน 

ดังนั้นจึงเป็นภาพสะท้อนของพุทธศาสนาที่เข้ามาซ้อนทับและผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม (การนับถือธรรมชาติ-ภูเขาศักดิ์สิทธิ์) ขณะเดียวกันตำนานเกี่ยวกับภูสามเส้าในสมัยหลังที่อธิบายรูปร่างภูเขาเชื่อมโยงกับผู้หญิงนั้นก็ยังคงมีลักษณะเค้าโครงเรื่องการปะทะสังสรรค์ระหว่างคนที่มาจากสองกลุ่มที่ต่างกันและมีความสัมพันธ์กัน 

ประการที่สองคือ การจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติผ่านระบบความเชื่อและจารีตที่กล่าวถึงกฎระเบียบข้อปฏิบัติต่างๆ ต่อการอยู่อาศัยในพื้นที่ เช่น ข้อห้ามและข้อปฏิบัติของคนในพื้นที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยเช่นกัน เช่น ข้อห้ามในการสร้างบ้านที่พักขวางทางน้ำ ซึ่งถือว่าหากฝ่าฝืนจะถือเป็นการ ‘ขึด’ หรือทำผิดจารีตจะเกิดหายนะ เป็นต้น

จากจุดตั้งต้นทางภูมิวัฒนธรรมและนิเวศวัฒนธรรมของภูสามเส้า สะท้อนออกมาในแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมหินตั้ง (Megalithic Culture) ซึ่งมีการใช้เรียกโครงสร้างที่ผู้คนจากทั่วโลกสร้างขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ โดยทั่วไปแล้วจะเกี่ยวข้องกับการฝังศพ และมักเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาและเหนือธรรมชาติ