ในด้านสถาปัตยกรรม บ้านเรือนที่อยู่อาศัยนั้น เป็นการแสดงออกถึงการดำรงชีวิตอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต เรือนของกลุ่มคนต่างๆ จึงสะท้อนถึงตัวตนของชาติพันธุ์นั้นๆ ออกมาอย่างชัดเจน โดยมีปัจจัยทางด้านวิธีคิดและความเชื่อประกอบกับสภาพภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ในการตั้งถิ่นฐาน
กลุ่มชนชาวไทในเวียดนามมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายอาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำระหว่างหุบเขา เลี้ยงชีพด้วยการทำการเกษตรกรรมและมีความเชื่อที่แฝงเกี่ยวกับธรรมชาติในรูปแบบของผี ซึ่งมีทั้งผีที่เป็นรูปแบบของเทพ คือผีแถนและผีที่คุ้มครองบ้านเรือนและคนในครอบครัว คือผีบรรพบุรุษ ถึงแม้ว่าไทดำและไทด่อน (ไทขาว) เป็นกลุ่มชนชาติเดียวกัน แต่ลักษณะของแต่ละกลุ่มนั้นก็มีสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์
การตั้งถิ่นฐานและวิถีชีวิตของกลุ่มชาวไทดำและไทด่อน (ไทขาว) ในดินแดนสิบสองจุไท อันเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติไทดำและไทด่อนมาแต่อดีต เป็นพื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ระหว่างหุบเขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม เป็นเทือกเขาสูงทอดยาวลงมาจากทางตอนใต้ของจีน เทือกเขาที่สำคัญคือ ‘ภูแดนดิน’ ‘ภูสามเส้า’ สลับกับที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่วนสภาพอากาศจะชุ่มชื้นจนถึงแห้งแล้ง เนื่องจากอยู่ใกล้กับเขตร้อนชื้นแถบศูนย์สูตร ในเขตป่าทึบและที่ภูเขาสูงจะมีสัตว์ป่าพืชพันธุ์ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้ผู้คนนิยมเลี้ยงชีพด้วยการเก็บของป่าและทำการเกษตร
ตามความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่ต่างก็ให้เหตุผลที่ต่างกันว่า แหล่งที่คนไทอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นที่อยู่แต่เดิมหรือมีการโยกย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นกำเนิดของกลุ่มไทที่เป็นตำนานของพญาแถน น้ำเต้าปุง และตำนานเมืองแถน อันเป็นต้นกำเนิดของเมืองในกลุ่มไท โดยมีความคล้ายคลึงกับตำนานเรื่องเล่าคล้ายกับเผ่าไทอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในจีนหรือลาว ซึ่งการกำเนิดของกลุ่มไทเรื่องการตั้งที่อยู่แต่เดิมนั้นยังเป็นปัญหาที่นักวิชาการยังให้ข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ จึงมีอยู่หลายทฤษฎี เช่น ในตำนานน้ำเต้าปุงก็จะเชื่อมโยงการเกิดขึ้นของคนกลุ่มข่าแจะ ไทดำ ลาว ฮ่อ และสุดท้ายคือแกว (ญวน) ว่าเกิดมาจากน้ำเต้าลูกเดียวกัน จึงเสมือนเป็นพี่น้องกัน จากตำนานและเรื่องเล่านี้มีการนำเอากลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในแถบนั้นมาร้อยเรียงให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างเชื้อชาติ
เมื่อเพ่งความสนใจให้แคบลงมาที่ ‘ภูสามเส้า’ ความสำคัญของภูสามเส้าคือเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำสายต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มแอ่งเชียงแสน เช่น ลำน้ำรวก ลำน้ำแม่คำ ลำน้ำแม่มะ ลำน้ำเหมืองแดง เป็นต้น
ลำน้ำเหล่านี้ล้วนไหลผ่านถ้ำในภูเขาและจะไหลออกมาจากตามช่องเขา ผ่านที่ราบแอ่งเชียงแสนไปทางทิศตะวันออกสบกับแม่น้ำโขง ทำให้บริเวณพื้นที่ราบลุ่มหน้าภูสามเส้าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม
ดังนั้นจึงเป็นพื้นที่ทำนาดำและยังพบร่องรอยของการตั้งชุมชนโบราณ เช่น บริเวณด้านหน้าภูสามเส้า ยังคงเหลือแนวคันดินที่ทอดยาวในแนวเหนือ-ใต้และวกไปทางทิศตะวันออก ซึ่งนักวิชาการบางท่านเสนอว่าเป็นที่ตั้งเมืองเวียงพานคำหรือเวียงพางคำ

แนวคันดินที่นักวิชาการบางท่านเสนอว่า
เป็นที่ตั้งเมืองเวียงพานคำหรือเวียงพางคำ