ภูสามเส้า เป็นหนึ่งในกลุ่มเทือกเขาแดนลาวที่กั้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา และติดกับพื้นที่ราบแอ่งเชียงแสนในลุ่มน้ำกก โดยมีภูเขาเรียงต่อกันสามลูกในแนวทิศเหนือ-ใต้ ได้แก่ ดอยจ้อง ปัจจุบันคือดอยนางนอน, ดอยปู่เฒ่า และดอยตุง หรืออีกชื่อหนึ่งในตำนานคือ ดอยดินแดง
พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์โบราณของภูสามเส้า-ขุนน้ำนางนอนหรือดอยนางนอน กับตำนานปู่จ้าวลาวจก ในมิติภูมิวัฒนธรรม ตำนาน ประวัติศาสตร์สังคมที่น่าศึกษามาก พื้นที่ตรงนี้มีลักษณะพิเศษ ข้างหน้ามีที่ราบลุ่มและมีลำน้ำหล่อเลี้ยงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เหมาะสำหรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ จึงมีคนเข้ามาอยู่บริเวณนี้มาแต่โบราณนาน เห็นได้จากตำนานเชียงแสนเดิมที่อยู่ในพงศาวดารโยนก
การศึกษาประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม หลักฐานโบราณคดี ตำนานบอกชาติพันธุ์ แต่ถ้าจะศึกษาประวัติศาสตร์สังคมดูชุมชนที่เป็นบ้านและเมือง ศึกษาชาติพันธุ์ตรงนั้น ตำนานไม่ใช่หลักฐานประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง แต่ตำนานเป็นประวัติศาสตร์จากความเชื่อของคนท้องถิ่นที่อยู่ตรงนั้นสร้างตำนาน ไม่ใช่อายุตามความเป็นจริง

ภูสามเส้า มีภูเขาเรียงต่อกันสามลูกในแนวทิศเหนือ-ใต้ ได้แก่ ดอยจ้อง
ปัจจุบันคือดอยนางนอน ดอยปู่เฒ่า และดอยตุง
การศึกษาตำนานต้องเอาเปรียบเทียบกับโบราณคดี อดีตที่ห่างไกลกับปัจจุบันที่เห็นอยู่ ตำนานนำไปสู่การสร้างภูมิวัฒนธรรม (Culture Landscape) และนิเวศวัฒนธรรม (Culture Ecology)
เทือกเขาดอยตุงนั้น มีการเคลื่อนไหวในการสร้างบ้านแปงเมืองของชุมชนกลุ่มลัวะ เห็นได้จากตำนานเมืองหิรัญนครเงินยางว่า โดยมีผู้นำทางวัฒนธรรมคือพระยาลวจักราช ในกลุ่มของปู่เจ้าลาวจก ได้นำคนจากที่สูงของเทือกเขาดอยตุงลงมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ริมลำน้ำที่ตีนเขา แล้วเกิดการขยายตัวไปตามเขาและที่สูงตามบริเวณโดยรอบ เช่น ที่สบรวก เชียงแสน ดอยจัน
เมืองหิรัญนครเงินยางในตำนานนั้น ถ้ามองจากตำแหน่งที่ตั้งของตัวเมือง คือเวียงจัน เป็นบริเวณที่มีแนวคันดินหรือกำแพงล้อมรอบนั้น น่าจะเป็นเมืองเดียวกับเวียงพางคำ ที่อยู่เชิงเขาดอยจ้องริมลำน้ำแม่สาย ปัจจุบันอยู่ในตัวอำเภอแม่สาย เพราะเป็นแหล่งโบราณคดีที่สัมพันธ์กับดอยตุง
ดอยจ้องนั้นเป็นหนึ่งในภูสามเส้าที่ชาวบ้านเรียกว่า ดอยจ้อง ดอยย่าเฒ่า และดอยตุง และคนรุ่นหลังในปัจจุบันเรียกว่า ภูนางนอน เพราะเป็นเทือกเขาคล้ายรูปผู้หญิงนอน ซึ่งในตำนานปู่จ้าวลาวจก ดอยส่วนศีรษะเรียกว่า ดอยจ้อง เป็นดอยของลูกชายปู่เจ้าลาวจกที่รอคอยพ่อ ดอยลูกถัดมาเรียกว่า ดอยย่าเฒ่า ซึ่งเป็นภรรยาของปู่เจ้าลาวจก ส่วนดอยอีกลูกหนึ่งคือ ดอยดินแดง หรือดอยปู่เจ้าลาวจก หรือเป็นที่รู้จักในนาม ดอยตุง
ในตำนานความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลจนถึงปัจจุบัน ภูสามเส้า หรือดอยนางนอน เทือกเขาที่ทอดยาวคล้ายผู้หญิงนอนเหยียดยาว ซึ่งมีความหมายต่อตำนานปู่จ้าวลาวจก ดอยส่วนศีรษะเรียกว่า ดอยจ้อง หรือดอยจิกจ้อง เดิมเรียกดอยนี้ว่า ดอยท่าหรือดอยต้า เป็นดอยของลูกชายปู่เจ้าลาวจกที่รอคอยพ่อ ดอยลูกถัดมาเรียกว่า ดอยย่าเฒ่า ซึ่งเป็นภรรยาของปู่เจ้าลาวจก ส่วนดอยอีกลูกหนึ่งคือ ดอยดินแดงหรือดอยปู่เจ้าลาวจก หรือเป็นที่รู้จักในนามดอยตุง
เมื่อดูลักษณะทางภูมิศาสตร์ โดยเอาความเป็นนิเวศวัฒนธรรม และภูมิวัฒนธรรมของชนเผ่าที่อยู่ในเขตเทือกเขาเดียวกันที่เชื่อมต่อ โดยไม่นำพรมแดนประเทศยุคปัจจุบันเข้ามาประมวลสังเคราะห์ เริ่มจากถิ่นฐานไทในเวียดนาม (ไทขาว ไทดำ ไทเเดง) ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งอาศัยของคนไทหลายกลุ่มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ไทขาว ไทดำ ไทแดง รวมถึงกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ที่มีการแสดงออกทางเอกลักษณ์เฉพาะตัว รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนจากการแต่งกาย ประเพณีและที่อยู่อาศัย เป็นต้น