เขาขุนน้ำนางนอน คือชื่อในปัจจุบัน แต่ก่อนในตำนานเป็นเขาของคนลัวะที่เรียกว่า ‘ภูสามเส้า’ ต่อมาเปลี่ยนเป็น ‘ดอยตุง’ อันเนื่องมาจากการสร้างพระธาตุบนยอดเขาที่สูงสุดในบริเวณนี้
ข้าพเจ้าเคยขึ้นไปสำรวจดูบริเวณเขานี้ในเวลาอันจำกัด ไม่พบร่องรอยของโขดหินศักดิ์สิทธิ์ หรือเนินดินที่ฝังศพคนสำคัญในรอบหินตั้งเหมือนในที่อื่น แต่พบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ปัจจุบันยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แทน ซึ่งพอนำมากล่าวตีความได้ว่าน่าจะเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ของคนลัวะก่อนการสร้างพระธาตุดอยตุงที่มากับความเชื่อของคนเผ่าไทย-ลาวในล้านนาและล้านช้างที่เชื่อว่าที่ใดมีน้ำซับหรือน้ำใต้ดินเป็นรูพญานาคจะมีการสร้างพระธาตุในทางพุทธศาสนาขึ้นปิดรูนาคทำให้มีการสร้างพระธาตุดอยตุงขึ้นในบริเวณนี้ และเปลี่ยนชื่อภูสามเส้ามาเป็นดอยตุงทางพุทธศาสนาแทน จนมาปัจจุบันคนทั่วไปรุ่นใหม่ๆ กำลังลืมชื่อดอยตุงมาเป็นเขาขุนน้ำนางนอนแทน โดยเอาตำนานท้องถิ่นของคนรุ่นหลังๆ มาอธิบาย
การเปลี่ยนแปลงของเรื่องในตำนานและชื่อสถานที่ตลอดจนบุคคลสำคัญเกี่ยวกับเขาขุนน้ำนางนอนดังกล่าวนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิวัฒนธรรมของพื้นที่แอ่งเชียงแสนที่มีขุนเขาน้ำนางนอนเป็นประธานว่าเป็นแอ่งของที่ลาดลุ่ม และกลุ่มที่มีการเคลื่อนย้ายของคนหลายชาติพันธุ์จากภายนอกที่ผลัดกันอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแอ่งเชียงแสนของจังหวัดเชียงรายถึงสามสิบชนชาติและชาติพันธุ์....’
ภูสามเส้า จึงเป็นพื้นที่ของเทือกเขาและภูดอยที่แสดงให้เห็นถึงความสืบเนื่องของภูมิโบราณคดีและภูมิวัฒนธรรมที่เชื่อมต่อพัฒนาการทางสังคมและการแปรเปลี่ยนชื่อของดอยต่างๆ ตามยุคสมัยในเชิงมานุษยวัฒนธรรมของการครอบครองพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างเด่นชัดจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง
+ 'จากดอยตุงถึงดอยด้วน: ภูมิวัฒนธรรมยุคหินตั้งในล้านนา' โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม บทบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม-มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๔
‘เขาขุนน้ำนางนอน : ภูศักดิ์สิทธิ์ของแอ่งเชียงแสน’ โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เปิดประเด็น: จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๑๑๙ เดือนกรกฎาคม - กันยายน ปี พ.ศ. ๒๕๖๑
‘ภูสามเส้า-ขุนน้ำนางนอน จากพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สู่การท่องเที่ยว’ โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
'วัฒนธรรมหินตั้ง' โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม บทบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม-มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๖๓
'อดีตในอนาคต ตอนที่ ๑๖ ภูสามเส้า' โดย พนมกร นวเสลา
'ตำนานเมืองเชียงแสน' โดย พระธรรมวิมลโมลี (ปริวรรต)
‘ประวัติศาสตร์ล้านนา’ สรัสวดี อ๋องสกุล
‘พงศาวดารโยนก’ พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค)
‘พื้นเมืองเชียงแสน: ฉบับชำระ’ โดย สรัสวดี อ๋องสกุล
‘ประวัติศาสตร์สิบสองจุไท’ โดย ภัททิยา ยิมเรวัต
คำสำคัญ :