ผู้เข้าชม
0
16 ธันวาคม 2567

ในตำนานของดอยตุงจากพงศาวดารโยนกบอกว่า บนดอยตุงเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของกลุ่มคนลัวะที่มีปู่เจ้าลาวจกเป็นผู้นำทำการเพาะปลูกพืชพันธุ์ด้วยการใช้เสียมตุ่น (เครื่องมือหิน) ในการพรวนดิน ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงจากบนเขามาสร้างบ้านแปงเมืองที่เชิงเขาใกล้กับลำน้ำสายที่ตอนปลายน้ำเรียก ลำน้ำรวก และเรียกชื่อเมืองนี้ว่าหิรัญนครเงินยางที่เป็นต้นกำเนิดให้เกิดเมืองเชียงแสนขึ้นเป็นรัฐเป็นนครในสมัยต่อมา 
 


อนุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

 

 

โดยมีกษัตริย์ผู้เป็นต้นตระกูลมีพระนามว่า ‘ลวจักราช’ ผู้ทำให้เกิดรัฐเชียงแสนขึ้น กษัตริย์สำคัญของราชวงศ์นี้คือ ‘ขุนเจือง’ เป็นผู้ที่แผ่อำนาจของรัฐเชียงแสนกว้างใหญ่ไปทั้งสองฟากของแม่น้ำโขง และต่อมาจากขุนเจืองอีก ๔ รัชกาล ก็มาถึงพญามังรายผู้สถาปนาแคว้นล้านนาขึ้นโดยมีเมืองสำคัญอยู่ที่เชียงใหม่

การสร้างเมืองขึ้นที่เชิงดอยตุงใกล้กับลำน้ำที่กล่าวในตำนานปู่เจ้าลาวจกนี้ มีเมืองอยู่จริงในบริเวณเชิงเขา ดอยเวา อันเป็นแนวเขาต่อเนื่องจากดอยจ้องลงไปจดลำน้ำสายที่กั้นเขตแดนไทย-พม่าที่ตำบลท่าขี้เหล็ก แต่คนท้องถิ่นในปัจจุบันไม่ได้เรียกว่าเมืองหิรัญนครเงินยางดังกล่าว 

ในตำนานลวจักราชผู้มีต้นตระกูลเป็นคนลัวะบนดอยตุง แต่เรียกชื่อเมืองว่า เวียงพางคำ เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพระเจ้าพรหมมหาราช มหาราชพระองค์แรกของชนชาติไทยในดินแดนประเทศไทย เป็นการอ้างเรื่องราวในตำนานสิงหนวัติของกลุ่มคนไทยที่เคลื่อนย้ายจากทะเลสาบตาลีฟูหรือหนองแส เป็นต้น แม่น้ำโขงในมณฑลยูนนานของประเทศจีน เป็นกลุ่มของชนเผ่าไทยที่อยู่ในพื้นราบทำนาในที่ลุ่มที่เชื่อกันว่าอพยพผ่านเขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตามลำน้ำแม่กกลงมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ ณ บริเวณหนองหล่มใกล้ กับแม่น้ำโขงใกล้กับเมืองเชียงแสน

ในการศึกษาสำรวจทางโบราณคดีของข้าพเจ้าทั้งจากภาพถ่ายทางอากาศและการศึกษาภาคพื้นดินได้ความว่าเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างเป็นผืนผ้าแบบไม่สม่ำเสมอ พอแลเห็นแนวคูน้ำและคันดินเป็นรูปเหลี่ยมค่อนข้างชัดทางตะวันตกเฉียงเหนือ อันเป็นด้านติดกับภูเขาขุนน้ำนางนอนที่มีความยาวประมาณ ๑,๐๑๐ เมตร และทางด้านใต้ประมาณ ๑,๐๒๓ เมตร ทางด้านเหนือแนวกำแพงและคูน้ำคดเคี้ยวอันเนื่องมาจากเป็นบริเวณที่รับน้ำจากลำห้วยที่ลงจากเขาเพื่อชักให้ไหลผ่านคูเมืองออกไปลงพื้นที่ราบลุ่มทางตะวันออก 

ในขณะที่ทางด้านตะวันออกที่อยู่ในที่ลาดลุ่มไม่มีร่องรอยของแนวคันดินและคูน้ำปล่อยให้เปิดกว้างเป็นที่รับน้ำของลำห้วยและลำเหมืองที่มาจากเขาทางมุมเมืองด้านเหนือต่อกับด้านตะวันตก และการที่มีคูน้ำและคันดินไม่ครบทุกด้านเช่นนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าการสร้างคูน้ำและคันดินของเวียงพางคำไม่ใช่เป็นเรื่องของการป้องกันการรุกรานของศัตรูในยามสงครามเป็นเรื่องสำคัญ หากเป็นเรื่องการจัดการน้ำในเรื่องการป้องกันน้ำป่าบ่าไหลเข้าท่วมเมืองประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ก็คือการชักน้ำเข้ามาใช้ในเมืองและเบนน้ำเข้าตามลำเหมืองออกไปยังพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของผู้คนที่อยู่นอกเมืองทางด้านตะวันออก