จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้ศึกษาและสำรวจมาเกี่ยวกับคนลัวะที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่สูงตามเขาและเนินเขาเหล่านี้พบว่า ระบบ ความเชื่อของคนลัวะได้พัฒนาขึ้นเป็น ระบบหินตั้ง [Megalithic] คือมีการแยกพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ออกจากพื้นที่ธรรมดาสาธารณ์ด้วยแท่งหิน ก้อนหิน หรือแผ่นหิน รวมทั้งการกำหนดลักษณะภูเขา ต้นไม้ เนินดิน ให้เป็นแหล่งที่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น การกำหนดให้เป็นที่ฝังศพของคนสำคัญหรือไม่ก็เป็นบริเวณที่สัมพันธ์กับการอยู่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติ และพื้นที่ในการมาประกอบพิธีกรรมร่วมกัน ฯลฯ
การฝังศพของบุคคลสำคัญมักจะถูกกำหนดให้ฝังไว้ในที่สูง ที่ไม่ไกลจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อาจจะเป็นโขดหิน เพิงหิน หรือกองหินสามก้อนหรือสามเส้าที่อาจจะเป็นก้อนหินธรรมชาติหรือเป็นของที่เคลื่อนย้ายจากที่อื่นมาประดิษฐานไว้
ในขณะที่บริเวณที่ฝังศพจะทำให้เป็นเนินดินล้อมเป็นรูปกลมหรือรูปเหลี่ยม รวมทั้งนำแท่งหินหรือก้อนหินมาปักรอบในระยะที่ห่างกันเป็นสี่ก้อนหรือมากกว่านั้นโดยไม่กำหนดตามจำนวนอย่างใด และบริเวณที่วางศพก็จะมีเครื่องเซ่นศพที่อาจจะเป็นเครื่องประดับ อาวุธและภาชนะดินเผารวมทั้งเครื่องใช้บางอย่าง คนที่อยู่ในที่สูง เช่น พวกลัวะที่กล่าวมานี้ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่มากมายตามเขาต่างๆ ในเขตแคว้นล้านนา อาจแบ่งออกได้เป็นหลายเผ่า (Tribes) แม้ว่าจะเป็นชาติพันธุ์เดียวกันก็ตาม บางเผ่ามีพัฒนาการทางสังคมและการเมืองใหญ่โตเป็นเมืองเป็นรัฐ (Tribal State) เกิดขึ้นมา ซึ่งแลเห็นได้จากการสร้างเนินดินที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบเป็น ‘เวียง’ ขึ้นเพื่อการอยู่อาศัย การจัดการน้ำ และการป้องกันการรุกรานของข้าศึกศัตรู
เหนือความเชื่อในเรื่องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นแหล่งฝังศพของคนสำคัญ โขดหินและเนินศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นแหล่งพิธีกรรมดังกล่าวมานี้ ก็เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่มีลักษณะโดดเด่นทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นขุนเขาหรือยอดเขาที่มีความสูงเป็นที่สุดเหนือบริเวณเขาทั้งหลาย หรือที่มีรูปร่างแบบไม่ธรรมดาที่ชวนให้คนที่เห็นมีจินตนาการนึกเห็นเป็นเรื่องราวอะไรต่างๆ ก็ได้
ก็คือบรรดาขุนเขาที่สัมพันธ์กับตำนาน ความเชื่อในเรื่องของความเป็นมาของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น บรรดาขุนเขาเหล่านี้ที่โดดเด่นในภาคพื้นล้านนาก็มี เช่น ดอยหลวง เชียงดาว ดอยสุเทพ ดอยด้วน ดอยตุง ฯลฯ
ในที่นี้ ดอยตุง ก็คือดอยที่สูงสุดของขุนเขาขุนน้ำนางนอน ในพงศาวดารโยนกที่กล่าวถึงเรื่องราวของกลุ่มคนลัวะในตระกูลของปู่เจ้าลาวจกที่ต่อมาพัฒนาการเป็นราชวงศ์ลวจักราชของพญามังราย ปฐมกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ในพงศาวดารไม่เรียกว่า ดอยตุง แต่เรียกว่า ‘ภูสามเส้า’ จากรูปร่างที่ปรากฏอยู่ของดอยสามดอยในบริเวณใกล้เคียงกัน คือ ดอยจ้อง ดอยผู้เฒ่า และดอยตุง ซึ่งในบรรดาดอยทั้งสามนี้ดอยตุงอยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นที่ซึ่งมีการนำพระธาตุมาประดิษฐานไว้เหนือดอยที่รู้จักกันในนามของดอยตุง
คำว่า ตุง โดยทั่วไปหมายถึงธงที่เป็นสัญลักษณ์ในทางศาสนาและความเชื่อ แต่ผู้รู้ในท้องถิ่นบางท่านบอกว่า เป็นบริเวณที่มีน้ำมารวมกัน