ผู้เข้าชม
0
16 ธันวาคม 2567

ในพงศาวดารโยนกอธิบายว่า เหตุที่เรียก ปู่เจ้าลาวจกเพราะว่ามีจก คือ จอบขุดดิน มากกว่าห้าร้อยเล่มขึ้นไป สำหรับแจกจ่ายให้คนในปกครองเช่ายืมทำไร่ ข้อมูลนี้จึงทำให้เห็นว่ากลุ่มชนของปู่เจ้าลาวจกมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีเรื่องเหล็กเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ในพงศาวดารโยนกยังระบุว่า บริเวณที่ปู่เจ้าลาวจกตั้งถิ่นฐานแต่ก่อนที่จะลงมาสร้างเมืองเงินยางนั้น มีถิ่นฐานอยู่ที่ดอยสามเส้า หรือดอยสามยอด ดอยนี้ประกอบไปด้วย

๑. ดอยทา เป็นทางขึ้นลงซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มลาวจกกับพวกชาวเมืองที่ราบดอยตุง

๒. ดอยย่าเถ้า ที่อยู่ภรรยาปู่เจ้าลาวจก

๓. ดอยดินแดง ที่อยู่ปู่เจ้าลาวจก ภายหลังคือดอยธง (ดอยตุง) เพราะมีธงตะขาบใหญ่ที่พระเจดีย์เป็นสัญลักษณ์

ภายหลังดอยสามเส้านี้ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดอยนางนอน
 


ภาพถ่ายทางอากาศ แสดงลักษณะภูมิประเทศบริเวณดอยตุง 

 

 

อาจารย์ศรีศักร ได้สังเคราะห์องค์ความรู้ถึงวิวัฒนาการทางสังคมของแหล่งโบราณคดีที่อยู่ในพื้นที่และขอบเขตของภูสามเส้าผ่านภูมิวัฒนธรรม นิเวศวัฒนธรรม และมานุษยวิทยาวัฒนธรรม มาเชื่อมต่อร้อยชุดความคิดออกมาดังนี้

‘….ทิวเขาแม่จัน คือ สันปันน้ำที่แบ่งแอ่งเชียงรายออกจากแอ่งเชียงแสน แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่าการแบ่งสันปันน้ำก็คือ ทางเชิงเขาฟากฝั่งแอ่งเชียงรายเป็นที่ลุ่มต่ำเต็มไปด้วยหนองบึงที่เรียกว่า หนองหล่ม คือหนองที่มีน้ำซับหรือน้ำใต้ดินที่มีระดับน้ำไม่คงที่ เช่น เวลาฝนตกและมีน้ำใต้ดินมากน้ำอาจท่วมท้นทำให้เกิดน้ำท่วมดินถล่มกลายเป็นทะเลสาบได้ หรือเมื่อน้ำใต้ดินลดน้อยลงแผ่นดินโดยรอบก็จะแห้งกลับคืนมา ทำให้คนเข้าไปตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยโดยรอบของหนองหรือทะเลสาบนั้นได้

ในการศึกษาทางภูมิวัฒนธรรมของการสร้างบ้านแปงเมืองในแอ่งเชียงแสนจากตำนานของข้าพเจ้าและบิดาคือ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม พบว่าแอ่งเชียงแสนเป็นที่เกิดของเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของคนไทยสองเมือง คือ เมืองเวียงพางคำ เชิงที่ราบลุ่มของเขาขุนน้ำนางนอนที่อยู่ขอบเขาใกล้กับลำน้ำแม่สายที่อยู่ทางตอนเหนือของแอ่งเชียงแสนกับเมืองเวียงหนองหล่ม ที่อยู่ชายขอบทิวเขาแม่จันทางฟากลุ่มน้ำแม่กกซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของแอ่งเชียงแสน ตำนานที่กล่าวถึงการสร้างบ้านแปงเมืองที่ว่านี้เป็นตำนานของคนสองเผ่าพันธุ์ คือ คนไทย และคนลัวะ

ตำนานของคนไทยคือ ตำนานสิงหนวัติ ส่วนตำนานของคนลัวะคือ ตำนานเกี่ยวกับปู่เจ้าลาวจก ความต่างกันของตำนานทั้งสองก็คือตำนานของคนไทยคือตำนานของคนที่เข้ามาในแอ่งเชียงแสนจากภายนอก ในขณะที่ตำนานปู่เจ้าลาวจกเป็นตำนานของคนที่มี ถิ่นฐานอยู่ในแอ่งเชียงแสนมาก่อน 

ตำนานของคนลัวะตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่สูง เช่น เชิงเขาและเขาเตี้ยๆ ส่วนของคนไทยตั้งหลักแหล่งในที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำลำน้ำและหนองบึงและคนเหล่านี้ก็เข้ามาพร้อมกันกับความเชื่อในเรื่องของผีบนท้องฟ้า เช่น ผีแถนและพญานาคที่เป็นเจ้าของแผ่นดินและน้ำ ดังเช่นบริเวณใดที่เป็นหนองบึงที่มีน้ำซับก็จะเชื่อว่าเป็น รูของพญานาค เมื่อมาผสมกับความเชื่อทางพุทธศาสนาแล้วก็มักจะสร้างพระมหายอดเจดีย์ ณ ตำแหน่งที่เป็นรูของพญานาค ให้เป็นหลักของบ้านและเมือง ส่วนความเชื่อของคนลัวะไม่มีเรื่องผีบนฟ้า เช่น ผีแถน ผีฟ้า และพญานาค ซึ่งเป็นสัตว์เนรมิต แต่เชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนดินและสัตว์ธรรมชาติที่เป็นสัตว์กึ่งน้ำกึ่งบก เช่น งู ปลาไหล จระเข้ ตะกวด เหี้ย ที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งความเชื่อในเรื่องผู้หญิงเป็นใหญ่กว่าผู้ชายในสังคม เช่น ผู้ที่เป็นเจ้าเมืองและปกครองคนคือผู้ที่เป็นหญิง ฯลฯ