การเลิกทาสในล้านนาตามที่ปรากฏใน “พระราชบัญญัติลักษณทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙” (ประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๔๓) เข้าใจว่าในช่วงต้นรัตนโกสินทร์มาจนถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวนทาสเชลยในล้านนาคงมีจำนวนมาก เป็นผลมาจากการกวาดครัวเรือนผู้คนจากเมืองต่าง ๆ เข้ามาฟื้นฟูบ้านเมืองในยุคแห่งการ “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” รวมทั้งการซื้อทาสเข้ามาสะสมเป็นแรงงาน
นอกจากนั้นยังมีข้อมูลจากนักสำรวจชาวอังกฤษอาร์ซิบอล อาร์ โคลฮูน เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๒๗ ทำให้ทราบว่า เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ ครอบครองทาส ๑,๕๐๐ คน เจ้าหอหน้ามีทาส ๑,๐๐๐ คน เจ้าราชวงศ์มีทาส ๘๐๐ คน เจ้านายที่มีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่า มีทาสได้ ๑๐๐ คน ส่วนขุนนางชั้นท้าวมีทาสได้ ๑๕ – ๒๐ คน ทาสเหล่านั้นคงรวมเอาผู้เป็นทาสเชลยและทาสสินไถ่เป็นกลุ่มเดียวกัน
เมื่อลองคำนวณสัดส่วนประชากรต่อจำนวนทาสโดยใช้ข้อมูลทำเนียบนามพญาเค้าสนาม นครเมืองน่านที่มีการจดบันทึกไว้ในช่วงที่เจ้าอนันตวรฤทธิเดชครองนครเมืองน่าน (พุทธศักราช ๒๓๙๕ – ๒๔๓๔) ใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่อาร์ซิบอล อาร์ โคลฮูน เขียนหนังสือ จำนวนพญาเค้าสนามหลวงมี ๓๒ คน ดังนั้นพวกที่เป็นทาสภายใต้กลุ่มเจ้านายที่บริหารงานบ้านเมือง คงมีประมาณ ๖,๕๐๐ คน ขณะที่รายงานบัญชีสำมะโนครัวมณฑลลาวเฉียงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๔๐ ระบุจำนวนประชากรของเมืองเชียงใหม่และเมืองขึ้นของเมืองเชียงใหม่ว่ามีจำนวนประชากรรวม ๑๕๕,๕๓๗ คน แสดงว่าเฉพาะทาสที่รับใช้เจ้านายก็มีจำนวนมากถึงร้อยละ ๔.๑๘ – ๕% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยตัวเลขดังกล่าวไม่สามารถคำนวณไปถึงจำนวนข้าพระกับทาสในครอบครองของขุนนางระดับล่างและนายเงินที่เป็นชาวบ้าน
การมีทาสในครอบครองทำให้นายของทาสมีศักยภาพในการต่อรองทางการเมืองสูง จนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญเมื่อสยามเข้ามาจัดระเบียบการปกครองรูปแบบใหม่ในล้านนา รวมทั้งไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของคนด้านการศึกษาได้อย่างเต็มที่ เพราะ “ทาสเชลย”และ “ทาสสินไถ่” ต้องอยู่ในอำนาจของนายทั้งชีวิตและเวลา จึงมีความจำเป็นต้องเลิกระบบทาสในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือให้ได้ผลสำเร็จโดยเร็ว เพื่อป้องกันการที่กลุ่มเจ้านายใช้ทาสในการสะสมกำลัง และ เสบียงอาหารเพื่อต่อสู้กับสยาม เป็นเวลาเดียวกันกับที่ฝรั่งเศสและอังกฤษพยายามรุกคืบเข้ามาช่วงชิงทรัพยากรในดินแดนล้านนา ด้วยการใช้ระบบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตสร้างข้อได้เปรียบทางกฎหมายแก่คนในบังคับ บางครั้งมีการอ้างความเป็นคนในบังคับละเมิดกฎหมายสยาม และ ไม่จ่ายส่วยภาษีหรือดึงกระบวนการทางยุติธรรม ปฏิเสธระบบกฎหมายจารีตที่ใช้กันสืบมาในล้านนา ฯลฯ กลวิธีการช่วงชิงประชากรดังกล่าว ส่งผลให้สยามต้องเดินหน้าปฏิรูปกฎหมายทั้งพระราชอาณาจักร และ สำรวจจัดทำแผนที่พระราชอาณาเขตอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยลูกจ้างชาวต่างประเทศเข้ามาทำงานในกรมกองต่าง ๆ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อผลักดันสยามให้เจริญในระดับก้าวกระโดด และถ่ายทอดวิทยาการให้แก่ข้าราชการชาวสยาม ขณะที่มีปฏิกิริยาต่อต้านสยามของเจ้านายในท้องถิ่นที่มองว่าการปฏิรูปทำให้เจ้านายท้องถิ่นขาดผลประโยชน์จากส่วยภาษีและแรงงานคน
ท่ามกลางบรรยากาศการช่วงชิงกำลังประชากร ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการได้ครอบครองพื้นที่ล้านนาทวีความรุนแรงมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกสิทธิอำนาจที่นายทาสในล้านนามีอยู่เหนือชีวิต และ เวลาของทาสเชลยในทันทีที่พวกเขาอายุครบ ๖๐ ปี รวมทั้งการประกาศให้ลูกทาสชาวล้านนาที่เกิดในวันที่ ๑๖ ธันวาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๑๖ เป็นต้นมาได้เป็นไทตั้งแต่เกิด ทำให้เจ้านายท้องถิ่นบางคนที่คิดรวบรวมกำลังคนก่อการต่อต้านการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่สยามดำเนินการอยู่ในล้านนาสูญเสียโอกาสฟื้นสยาม เพราะผลจากการเกษียณอายุทาสกับการลดค่าตัวทาสครึ่งหนึ่ง และให้ลูกทาสเป็นไท ทำให้ประชากรล้านนาหลายคนได้รับชีวิตและเวลากลับคืนมา รวมไปถึงสิทธิทางกฎหมาย ตัวอย่างที่ชัดเจนของเรื่องนี้ คือ บรรดาลูกหลานของกลุ่มชาวนาแถบบ้านสันป่าสัก ที่ถูกเรียกว่าพวกกบฏพญาผาบ ซึ่งก่อความวุ่นวายต่อต้านการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ของสยามโดยเจ้าภาษีเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๒ ได้ถูกนำตัวไปเป็นทาสเชลยของเจ้านายที่เมืองเชียงใหม่แทนตัวพญาผาบและครอบครัวที่หลบหนีไปเมืองเชียงตุง คนเหล่านี้ได้โอกาสเป็นไทแก่ตัวกลับเข้าสู่ความเป็นประชากรของบ้านเมือง กลับไปอยู่ถิ่นฐานเดิมของตนเองเพราะพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ด้วย
การได้รับอิสรภาพที่ไม่คาดคิดครั้งนี้คงก่อให้เกิดคำถามอย่างกว้างขวางในหมู่ประชากรล้านนาว่า ใครเป็นนายเหนือหัวที่มีอำนาจแท้จริงในการปกครองล้านนา เพราะการเป็นไทคือการคืนสิทธิทางกฎหมายและร่างกายให้แก่คน ๆ นั้น ตัวอย่างของการขาดสิทธิเหนือร่างกายและชีวิตของทาสในล้านนา มีอยู่ในอัตชีวประวัติของศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี เรื่องของน้อยเตโชที่เคยเป็นทาสของเจ้านายในเมืองลคร เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผีก๊ะ และถูกขับไล่ออกจากเมืองละคร แต่ก่อนที่จะถูกขับไล่ออกมา เจ้านายของเขาบังคับให้เขาขอยืมเงินเพื่อไถ่ถอนอิสรภาพของตนเอง และต้องทิ้งลูกสาวไว้สองคนเป็นประกันอีกด้วย ตัวน้อยเตโชย้ายที่อยู่หลายครั้งจนได้มาตั้งบ้านอยู่ที่บ้านปางกรายแถบเวียงป่าเป้า
ปฏิกิริยาของเหล่าเจ้านายล้านนาที่เสียประโยชน์จากการมีทาส และ ผลประโยชน์เศรษฐกิจ ปรากฏอยู่ในสำเนาโทรเลขลับของหม่อมอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ ข้าหลวงประจำเมืองนครเชียงใหม่ กราบทูลเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๔ ก่อนเกิดกบฏเงี้ยวที่เมืองแพร่ กล่าวถึงความอึดอัดของเจ้านายท้องถิ่นเพราะทาสไม่มีใช้ จนแทบจะต้องตักน้ำกินเอง ป่าไม้ก็หมดแล้ว
การขาดสิทธิอำนาจปกครองและสั่งการทาสของกลุ่มเจ้านายที่ปรากฏอยู่ในสำเนาโทรเลขลับฉบับนี้ น่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยวต่อต้านอำนาจสยาม (แต่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบันทึกไว้ว่า เรื่องกบฏเงี้ยวเป็นแค่พวกคนหนีหนี้มาจากเมืองเชียงตุง เข้ามาก่อความวุ่นวายขึ้นในล้านนาเพื่อปล้นเงินไปใช้หนี้ แต่กลับเลยเถิดจนกลายเป็นการกบฎไป)