ผู้เข้าชม
0
29 มกราคม 2564

เหนือวัดนางเหล้าขึ้นไปเป็น ‘วัดสีหยัง’ เป็นเวียงโบราณรูปสี่เหลี่ยมขนาดไล่เลี่ยกับเวียงของ ‘เมืองสทิงพระ’ และมีพระสถูปทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสูงเป็นประธาน เคยมีการขุดค้น พบเศษภาชนะเคลือบของจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ที่มีอายุอยู่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ นับเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งทางชายฝั่งทะเลจีนในอ่าวไทย

เหนือขึ้นไปทางสันทรายจาก ‘เวียงสีหยัง’ ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณที่มี ‘วัดเจดีย์งาม’ เป็นศูนย์กลาง เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุเจดีย์ทรงกลมที่ตั้งอยู่บนฐานสูง สร้างด้วยอิฐปะการัง น่าจะเป็นพระสถูปที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระมหาธาตุวัดสทิงพระที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ลงมา

‘เวียงสีหยัง’ เป็นศูนย์กลางและมีศาสนสถานสำคัญอยู่ที่เขาพะโคะ เขาคูหา และวัดเจดีย์งาม เป็นกลุ่มชุมชนบนแผ่นดินบกที่มีความกว้างราว ๑๐ กิโลเมตร

นอกจากนี้ยังมีที่ ‘พังยาง' ห่างจากวัดเจดีย์งามมาทางเหนือราว ๗ กิโลเมตร มีคลองขุดจากชายฝั่งของแผ่นดินบกทางฟากทะเลสาบมาออกฝั่งทะเลในบริเวณบ้านพังยาง ซึ่งมีร่องรอยของแนวคูน้ำรูปสี่เหลี่ยมที่แสดงสถานะความเป็นเมือง ผ่านไปออกทะเลที่ปากระวะ ปัจจุบันคงเหลือสิ่งเก่าแก่อยู่เพียงวัดและพระสถูปโบราณขนาดเล็ก ลักษณะทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสูง  และร่องรอยอยู่เพียงการตั้งชื่อวัดในบริเวณนี้ว่า วัดหน้าเมือง

เมืองพังยางคือชุมชนบ้านเมืองตรงปลายสุดของแนวสันทรายที่เรียกว่า ‘แผ่นดินบก’ เพราะเหนือขึ้นไปจนถึงคลองระโนด เลยไปจนอำเภอหัวไทรและปากพนัง ไม่ปรากฏร่องรอยชุมชนที่รวมกลุ่มกันเป็นบ้านเมืองให้เห็นเท่าใดนัก

 

เมืองสงขลาหรือสิงโคราของสุลต่านสุไลมาน

ขณะที่ทางทะเลสาบฟากพัทลุง มีพัฒนาการของ ‘เมืองไชยบุรี’ ขึ้นเป็นเมืองพัทลุงในสมัยอยุธยา ทางฟากฝั่งทะเลบนคาบสมุทร ก็มีพัฒนาการของเมืองสงขลาขึ้นที่บริเวณหัวเขาแดงตรงปากทะเลสาบสงขลา คนทั่วไปเรียก ‘สงขลา’ ขณะที่คนต่างชาติเรียก ‘สิงโคราหรือซิงกอรา’ [Singora] เป็นเมืองที่เกิดใหม่โดยพ่อค้าชาวอาหรับ-มลายูที่มาจากภายนอก ที่เรียกว่าอาหรับ-มลายูก็เพราะเดินทางผ่านมลายูก่อนเข้ามาใช้บริเวณท่าจอดเรือที่มีอยู่ก่อนแล้ว เป็นแหล่งขนถ่ายและซื้อขายสินค้ากับพ่อค้านานาชาติที่มาจากภายนออก เช่น ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส มลายู เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ อันเป็นยุคเริ่มต้นที่กรุงศรีอยุธยาเป็นปึกแผ่นทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

ในจดหมายเหตุฝรั่งระบุว่า ทางกรุงศรีอยุธยาตั้งให้พ่อค้าอาหรับ-มลายูท่านหนึ่งเป็นข้าหลวงเมืองสิงโครา คือ ‘ดาโต๊ะโมกอล’ ที่เป็นเมืองท่าส่งออกผลผลิตของป่า เช่น รังนกนางแอ่น พริกไทย เมื่อเสียชีวิต ได้ตั้งลูกชายคือ ‘สุลัยมาน’ ให้ดูแลบ้านเมืองต่อมา

เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต เกิดการแย่งชิงราชสมบัติโดยออกญากลาโหม ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีที่ตั้งตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ นาม ‘พระเจ้าปราสาททอง’ ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้จงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมกับทางฝ่ายพระเจ้าปราสาททอง อันส่งผลมายังการปกครองบ้านเมืองทางภาคใต้ด้วย

 

วัดพังยางและแนวขอบเขตคูน้ำล้อมรอบทั้งคูขุดและลำน้ำธรรมชาติ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

บนป้อมหัวเขาแดง มองออกไปเห็นทะเลนอกและปากทางเข้าทะเลสาบสงขลา