ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคืนความเป็นไทให้แก่กลุ่มทาสเชลยในล้านนาที่มีอายุถึง ๖๐ ปี ในทันทีที่ประกาศใช้ “พระราชบัญญัติลักษณทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙” (พุทธศักราช 2444) เพราะทรงพระราชวินิจฉัยว่าการที่คนเหล่านี้ต้องตกมาเป็นทาสเรียกว่าเป็นการกดขี่ที่ร้ายแรง เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นทาสเพราะเจตนาของตนหรือทำตัวเองให้ตกต่ำ หากถูกบังคับมาให้เป็น พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายเรื่องทาสในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือว่า มีพวกทาสที่ได้มาระหว่างการทำสงครามเรียกว่า “ทาสเชลย” และทาสที่ได้มาด้วยทรัพย์เรียกว่า “ทาสสินไถ่” ไว้ว่า “ทาสเชลย” เกิดขึ้นจากประเพณีโบราณเมื่อกษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้เจ้านาย พระญา แสน ท้าว หัวเมือง ในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือยกกำลังไปปราบปรามเมืองใด หากได้รับชัยชนะมาแล้ว บรรดาคนของฝ่ายข้าศึกซึ่งจับมาเป็นเชลยจำนวนมากน้อยเท่าใดก็ตาม จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แบ่งให้เป็นบำเหน็จบำนาญของบรรดาแม่ทัพนายกอง ข้าราชการ ที่ได้ไปรบทัพจับศึกครั้งนั้น ตามแต่ความดีความชอบในราชการสงคราม ส่งผลทำให้คนจำนวนมากต้องถูกลดสถานะทางสังคมตกเป็นทาสเชลยในสังกัดของแม่ทัพนายกองรวมทั้งบรรดาข้าราชการทั้งหลาย
แต่เมื่อไม่มีสงคราม ทาสเชลยก็จะมีไม่ได้
พระราชบัญญัตินี้เองที่อาจเป็นต้นเค้าความวุ่นวายในล้านนาเพื่อฟื้นสยามครั้งสุดท้าย และยังมีชนชั้นข้าที่ยังปรารถนาจะคงสถานภาพ “ข้า” ของตนสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน จะกล่าวถึงต่อไป
เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศให้ใช้ “พระราชบัญญัติลักษณทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙” ในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กันยายน รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙ (พุทธศักราช ๒๔๔๓)
พระราชบัญญัตินี้เน้นไปที่การปลดปล่อย “ทาสเชลย” หรือ ทาสที่เรียกว่า “ค่าปลายหอกงาช้าง” “ค่าหอคนโฮ่ง” เหตุเพราะ เมื่อไม่มีสงคราม ทาสเชลยก็จะมีไม่ได้ ส่วนพวก “ทาสสินไถ่” หรือ “ข้าน้ำเบี้ยน้ำเงิน” ก็ได้มีการลดค่าตัวทาสทุกเมืองในล้านนาลงประมาณครึ่งหนึ่ง ทาสชายมีค่าตัว ๒๕ บาท ทาสหญิงมีค่าตัว ๓๒ บาท ไม่เกินกว่านี้ และ (๑) ทาสที่มีอายุถึง ๖๐ ปี ทั้งทาสเชลยและทาสสินไถ่ให้พ้นจากการมีค่าตัวเป็นไทในทันที (๒) ทาสเชลยที่มีเงินมาขอไถ่ตัวตามอัตราค่าตัวในพระราชบัญญัตินี้ นายเงินจะ “ต้อง” รับเงินค่าไถ่ตัวจากทาสจะไม่ยอมรับไม่ได้ (๓) ลูกทาสเชลยเป็นไท เฉพาะผู้ที่เกิดในวันที่ ๑๖ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ เป็นต้นมา จะต้องไม่เป็นทาส ลูกทาสเชลยเกิดก่อนวันนั้น ให้คิดค่าตัวตามอายุ ปีละ ๒ บาท ๓๒ อัฐจนเต็มค่าตัวเมื่ออายุ ๑๐ ปี คือมีค่าตัว ๒๕ บาท นอกจากนั้นยังกำหนดข้อลดหย่อนต่าง ๆ จำนวนมาก เพื่อให้ทาสมีโอกาสถอนตนจากการเป็นทาสได้อย่างรวดเร็ว นายเงินที่ซื้อคนเกิดหลังวันที่ ๑๖ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ มาเป็นทาส ภายหลังเกิดปัญหาทาสหนีหรืออย่างใด นายเงินจะจับกุมตัวทาสไม่ได้ หรือจะเอาเงินค่าตัวคืนไม่ได้ เพราะถือว่าทำผิดกฎหมาย
หลักฐานในราชกิจจานุเบกษา ค่าตัวทาสแต่ละเมืองไม่เท่ากัน
และค่าตัวแพงมากเกินกว่าที่ทาสจะสามารถไถ่ตัวเองให้เป็นอิสรชน