ผู้เข้าชม
0
29 มกราคม 2564

บันทึกไว้ในเอกสารกัลปนาว่าวัดสทิงพระและพระบรมธาตุองค์ใหญ่แยกพื้นที่ออกจากกัน จากขวาไปซ้าย พระบรมธาตุสทิงพระซึ่งเคยเป็นพระบรมธาตุสำคัญของเมืองและมีกำแพงแก้วกั้น ต่อมาคือวิหารพระนอน และเจดีย์องค์ระฆังซึ่งเป็นส่วนของวัดสทิงพระ

'พังชิ' หรือ 'ตระพังชิ' อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพระบรมธาตุและด้านนอกคูเมืองสทิงพระ ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่มีคูน้ำล้อมรอบ [Citadel]

ครั้งที่อาจารย์ศรีศักรไปสำรวจ พบถนนผ่ากลางเครื่องปั้นดินเผาเคลือบที่เป็นสินค้าทางทะเล มีของจีนแต่สมัยราชวงศ์หยวนลงมาจนถึงเหม็งตอนต้น บริเวณที่ติดรั้วของโรงเรียนประจำอำเภอ ซึ่’แสดงให้เห็นว่าเมืองสทิงพระเป็นเมืองท่า มีเรือเดินทะเลมาจอด ชาวบ้านยังเคยชี้ให้เห็นร่องรอยทางน้ำที่เรือเข้ามา

สิ่งสำคัญที่สุดในบริเวณเมืองสทิงพระก็คือ พระมหาธาตุเจดีย์ที่เป็นพระสถูปทรงกลม องค์ระฆังตั้งอยู่บนฐานสูงย่อมุม คล้ายพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ซึ่งน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ลงมา แผ่นอิฐที่ก่อพระเจดีย์นั้นเป็นหินปะการัง ไม่ใช่อิฐจากดินเผาหรือศิลาแลง  พระสถูปมหาธาตุสทิงพระองค์นี้คงสร้างครอบฐานศาสนสถานของพระสถูปทรงกลม คล้ายกับเจดีย์รายเจดีย์ประดับมุม ๔ ทิศของฐานพระบรมธาตุไชยา เป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสูง

แสดงว่าเมืองสทิงพระหรือสทิงพาราณสีบนแผ่นดินบก เป็นเมืองที่เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ลงมา จนถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง สัมพันธ์กับตำนานเมืองและตำนานพระธาตุของบ้านเมืองในสยามประเทศ ตั้งแต่สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช เพชรบุรี ราชบุรี และอยุธยา

แต่หลักฐานทางโบราณวัตถุที่พบในบริเวณสันทราย อันเป็นที่ตั้งของเมืองสทิงพระนั้น มีหลายยุคหลายสมัยที่มีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ เป็นของเนื่องในศาสนาฮินดู พุทธเถรวาทและมหายาน ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา หรือก่อนหน้านี้ พระพุทธรูป  ปางสมาธิสมัยฟูนัน ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ ลงมา เป็นของที่พบในบ้านเมืองโพ้นทะเลอื่นๆ เช่น เวียดนาม ยิ่งกว่านั้นยังมีผู้พบลูกปัดแก้วสีหรือหินสีที่มีอายุเก่ากว่าสมัยทวารวดีขึ้นไป มีการขุดพบบ่อน้ำที่กรุด้วยอิฐและหลักเสาในบริเวณสระน้ำโบราณเรียกว่าเสาตะลุง

ตามแนวสันทรายต่อจากเมืองสทิงพระขึ้นไปทางเหนือจนถึงคลองระโนด อำเภอระโนด พบแหล่งชุมชนบ้านเมืองและวัดที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับเมืองสทิงพระ คือตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ลงมาหลายแห่ง แต่แหล่งชุมชนหนาแน่น มีทั้งวัดและตระพังมากจะอยู่ตั้งแต่บริเวณวัดดีหลวง วัดพะโคะ วัดนางเหล้า ขึ้นไปจนถึงวัดสีหยังและวัดเจดีย์งาม

วัดพะโคะตั้งอยู่กลางทุ่งที่มีเขาลูกโดด ๒ ลูกอยู่ใกล้กัน ลูกใหญ่เป็นที่ตั้งของวัดพะโคะและพระมหาธาตุเจดีย์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นวัดศูนย์กลางของคณะสงฆ์ฝ่ายลังกาชาติ พระมหาธาตุเจดีย์มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระมหาธาตุสทิงพระ  เขาคูหา อันเป็นเขาลูกเล็ก เหนือเขาพะโคะ มีถ้ำ ๒ แห่งที่มนุษย์สร้างโดยการเจาะภูเขาเพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพราหมณ์ มีแท่นหินขนาดใหญ่เพื่อประดิษฐานศิวลึงค์ และจากหน้าถ้ำไปทางตะวันออกกลางทุ่ง เป็น ‘พังพระ’ ที่เป็นสระน้ำใหญ่เพื่อประกอบพิธีกรรม

เขาพะโคะ เขาคูหา และพังพระ คือศาสนสถานสำคัญของผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู มีอายุแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา

และตามแนวสันทรายต่อเนื่องในบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของวัดสนามชัย วัดชุมพล วัดดีหลวง วัดนางเหล้า คือชุมชนที่เป็นฐานทัพของพญาศรีธรรมาโศกราช เมื่อครั้งยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองนครศรีธรรมราชที่ถูกยึดครองโดยพวกทมิฬจากอินเดียใต้